สำหรับ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ได้ขึ้นเป็นว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนที่ 17 โดยชัชชาติได้เผยสิ่งที่แรกที่จะทำให้ชาว กทม.ที่ทั้งเลือกและไม่เลือกตน โดยยืนยันว่าจะเริ่มทำนโยบายทั้งหมด 200 กว่านโยบาย พร้อมที่จะเริ่มทำทั้งหมดทันที ได้คะแนนเสียงไปอย่างถล่มทลาย
ส่วนในกรณีที่ต้องไปร่วมงานกับรัฐบาลเพราะผู้ว่าฯกทม.นั้นต้องทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยตนนั้นขอรอคะแนนทั้งหมดจากประชาชนเพราะเป็น เสียงสำคัญในการต่อรองการทำงานเพราะคะแนนที่ตนจะได้นั้นมากกว่านายกรัฐมนตรี และเป็นเสียงสำคัญที่จะทำให้ตนนั้นทำงานราบรื่นสำหรับเสียงของประชาชน ส่วนในเรื่องของการเมืองความขัดแย้งนั้น อยากจะวอนให้ประชาชนทุกคนนั้นคิดต่างกันได้ สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้แต่อย่าเกลียดกัน ต้องหาทางออกร่วมกัน
โดยในวันนี้สำนักข่าวไทยนิวส์จะพาทุกท่านไปชมประวัติและเส้นทางการเมืองของผู้ชายที่ชื่อ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้สมัครผู้ว่าฯหมายเลข 8 ว่าจุดเริ่มต้นนั้นมีที่มาที่ไปอย่าง
ไรกว่าจะมาชิงเก้าอี้และได้ตำแหน่งว่าที่ผู้ว่าฯกทม.ได้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า ทริป เกิดในครอบครัวของพลตำรวจเอก เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีพี่น้อง 2 คน คือ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ (ทัวร์) ฝาแฝด ของชัชชาติ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ในด้านครอบครัวของชัชชาติ ได้แต่งงานกับ ปิยดา สิทธิพันธุ์ ที่มีโอกาศได้พบกันตอนเรียนจบที่ต่างประเทศแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ภรรยายังเป็นแอร์โฮสเตสอยู่ และมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนอย่าง แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บทบาทเป็นพ่อที่ทำหน้าที่ดูแลลูกชายที่มีอาการหูหนวก
ด้านการศึกษา "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
จบการศึกษาระดับมัธยมต้น จาก โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย จาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา (ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2530)
ด้านการทำงาน
น้อยคนนักจะรู้ว่าชัชชชาติ เคยทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างในบริษัทเอกชนต่อมาในปี พ.ศ.2538 ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2555 นอกจากนั้นยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง อาทิ บริษัทขนส่ง จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดและในปี พ.ศ. 2551 - เดือน มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
ชัชชาติในฐานะนักวิชาการ ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร โดยที่ไม่ได้มีตำแหน่งใด ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2555 เขาได้รับการทาบทามทางโทรศัพท์ จากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แม้ทางมารดาจะไม่เห็นด้วยแต่เขาก็ตกลงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 จากการที่เขาเข้ามารับงานทางการเมืองเป็นครั้งแรก ทำให้ในช่วงแรกในตำแหน่งรัฐมนตรี เขากลายเป็นรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่รู้จักมากที่สุดและจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อมา เขาก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555
ชัชชาติในฐานะรัฐมนตรีคมนาคมถือเป็นบุคคลระดับหัวกะทิของรัฐบาลในด้านการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เขาได้รับการกล่าวถึงในฐานะรัฐมนตรี "ดูโอเศรษฐกิจ"ของรัฐบาลคู่กับกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ "ดูโอระบบราง" คู่กับประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการรถไฟฯที่นโยบายของ ชัชชาติให้ความสำคัญ กับการขนส่งระบบรางเป็นพิเศษ ผลงานในช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรี อาทิ การแก้แบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง การแก้แบบสายสีแดงเข้มจาก 3 ทางเป็น 4 ทาง การจัดซื้อจัดขบวนรถด่วนพิเศษ CNR จำนวน 8 ขบวน, การเปลี่ยนรางรถไฟในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดให้ข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปนั่งรถเมล์มาทำงานแล้วรายงานปัญหา
วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ชัชชาติเป็นหนึ่งในตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมประชุมกับบรรดาแกนนำและตัวแทนฝ่ายต่าง ๆ เพื่อหาทางออกประเทศ ที่จัดขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ในเดือนสิงหาคม ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2557 เขาเป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในปี 2558 - 2561 กรรมการ บมจ. โฮม โปรดักส์เซ็นเตอร์ และวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560 รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ตั้งเขาเป็นกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ชัชชาติชี้แจงว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน และยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ชัชชาติมีภาพลักษณ์เป็นรัฐมนตรีติดดิน อาทิ ซ้อนจักรยานยนต์รับจ้าง โหนรถเมล์ นั่งรถสองแถว โดยสารรถไฟ ออกตรวจราชการ ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อตรวจปัญหาด้วยตนเอง หลายครั้งที่เขาไปตรวจงานตามองค์กรของรัฐโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
สำหรับในโลกออนไลน์ ความนิยมได้เริ่มขึ้นมาจากรูปภาพหนึ่งที่ชัชชาติเข้าไปทำบุญใส่บาตรภายในวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ โดยมีลักษณะสวมเสื้อแขนกุด หิ้วถุงอาหารและเดินด้วยเท้าเปล่า หลังจากภาพนี้ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต มีผู้คนตัดต่อภาพล้อเลียน รวมถึงเลียนแบบท่าทางในรูปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และได้รับการกล่าวขนานนามว่าเป็น "ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี" จนกระทั่งมีแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับชัชชาติโดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อชัชชาติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มีเกมบนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับตัวเขาเองด้วยเช่นกัน
เส้นทางผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เมื่อปี พ.ศ. 2562 ชัชชาติประกาศว่าเขาตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ โดยเน้นนโยบายด้านคน ระบบเส้นเลือดฝอย สิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ชัชชาติได้เปิดตัวลงสมัครอย่างเป็นทางการ ใช้ชื่อการรณรงค์หาเสียงว่า "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" โดยมีนโยบายสำคัญ อาทิ การสร้างเครือข่ายแผนที่จุดเสี่ยงอาชญากรรม พัฒนาระบบขนส่งมวลชน สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองแห่งศิลปะและการเรียนรู้ เป็นต้น ทั้งนี้ พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เคยเป็นหนึ่งในทีมงานของชัชชาติด้วย
ต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันเปิดรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติขี่จักรยานจากสำนักงานเพื่อนชัชชาติ อาคารมิ้นท์ทาวเวอร์ ถนนบรรทัดทอง มาถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ตั้งแต่เวลา 06.00 น. และจับสลากได้หมายเลข เขาใช้แนวทาง "หาเสียงแบบรักเมือง" อาทิ ใช้ยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมดในการหาเสียง ลดขนาดและปริมาณของป้ายหาเสียง จัดพิมพ์เอกสารแนะนำตัวในรูปแบบหนังสือพิมพ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ และนำวัสดุที่ใช้ทำป้ายหาเสียงกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ต่อในทีมงาน เป็นต้น
ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2565 ปวีณา หงสกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมทีมหาเสียงของชัชชาติที่เขตดอนเมือง ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของปวีณา
ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ชัชชาติเลือกที่จะไม่ตั้งเวทีปราศรัยใหญ่แบบเดียวกับผู้สมัครบางส่วน แต่ใช้วิธีแสดงวิสัยทัศน์ตามย่านเศรษฐกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ได้แก่ สยาม, สีลม, ไชนาทาวน์–เยาวราช และย่านบางลำพู–ข้าวสาร แทน โดยชัชชาติใช้ลังไม้หนึ่งใบตั้งเป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เลือกช่วงวันศุกร์เย็นซึ่งมีการจราจรติดขัด รวมถึงใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหลักในการเคลื่อนย้ายจากจุดต่อจุด