สืบเนื่องจาก กกต.จะมีการพิจารณารับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ โดยทางสำนักงานกกต.จะเสนอรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) และ สมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ล่าสุด กกต. เผย ยังไม่มีวาระการพิจารณารับรอง ชัชชาติ เป็น ผู้ว่าฯกรุงเทพ คนที่ 17
โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ได้รับคะแนน 1,386,215 คะแนน อย่างไรก็ตามในส่วนของนายชัชชาติ ถูกร้องเรียน จำนวน 2 เรื่อง คือ กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ
กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่
เเละการร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด
ล่าสุด คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยกับทีมข่าวว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งวันนี้ ไม่มี วาระรับรอง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่17
ซึ่งระหว่างที่ยังไม่มีมติจาก กกต.นั้น ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ได้ทำการเปลี่ยนป้ายชื่อ ผู้ว่าฯ กทม. ตรงบริเวณประตูทางเข้า จากพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มาเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แล้วตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมาก โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องดังกล่าวผ่านสายด่วน 1444 เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะประเด็นว่าจะรับรองผลการเลือกตั้งให้นายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯกทม. หรือไม่ เหตุใดจึงใช้เวลาพิจารณานาน และจะมีผลแจ้งออกมาเป็นทางการหรือไม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ระหว่างที่ยังไม่ชัดเจนเรื่องการพิจารณารับรองเป็นผู้ว่าฯกทม. ชัชชาติยังคงลงพื้นที่ พบปะประชาชน ตรวจเยี่ยมโครงการ รถโดยสาร BRT และยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากเหมือนเช่นเคย โดยมีผู้ติดตามการถ่ายทอดสด การลงพื้นที่ กว่า 2.5 หมื่นคน
ด้าน นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงขั้นตอนการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นกรุงเทพมหานครจะต้องส่งเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้กระทรวงพิจารณาข้อกฎหมาย ก่อนนำเข้าที่ประชุมครม. เพราะ กทม.ไม่สามารถเสนอเรื่องเข้าครม.เองได้
ส่วนจะต้องมีการเริ่มเจรจาใหม่หรือไม่นั้น นิพนธ์ ระบุว่า แล้วแต่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เพราะข้อมูลทั้งหมดอยู่ในเอกสารแล้ว ไม่สามารถแก้เอกสารได้ อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้ว่าฯว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรต่อไป