นพ.จักรรัฐ ชี้แจงประเด็น พบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย เดินทางมาพักเครื่องที่ไทย

31 พฤษภาคม 2565

นพ.จักรรัฐ ชี้แจงประเด็น พบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย เดินทางมาพักเครื่องที่ไทย เพื่อรอเปลี่ยนเครื่องไปประเทศออสเตรเลีย ตรวจสอบขณะอยู่ในประเทศไทยไม่มีอาการ และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดใคร

วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) กรณีประเทศออสเตรเลียแจ้งว่าพบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย มีประวัติบินมาจากประเทศทางยุโรป และมาแวะต่อเครื่อง (Transit) ที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมง จากการสอบสวนโรคพบว่า ขณะที่ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในประเทศไทยไม่มีอาการ และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด โดยเริ่มมีอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด 12 คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือ จึงไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากการติดตาม 7 วันยังไม่พบอาการป่วย โดยจะติดตามจนครบ 21 วัน

นพ.จักรรัฐ ชี้แจงประเด็น พบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย เดินทางพักเครื่องที่ไทย

 

ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจากไอร์แลนด์ 3 ราย ที่สงสัยป่วยฝีดาษวานร แต่ผลตรวจออกมาเป็นเริมนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้ามาเรียนมวยไทยโดยบินตรง จ.ภูเก็ต แต่เดินทางเข้ามาคนละวัน รายแรก เพศชาย อายุ 30 ปี อาชีพแพทย์ เดินทางมาวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่แขนซ้ายวันที่ 21 พฤษภาคม อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศาเซลเซียส รับยาที่คลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต รายที่ 2 เพศชาย อายุ 27 ปี อาชีพนักแสดง เดินทางมาวันที่ 5 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่หลังด้านขวาและคอ วันที่ 21 พฤษภาคม รับประทานยาและอาการไม่ดีขึ้น และรายที่ 3 เพศชาย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาวันที่ 13 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย วันที่ 22 พฤษภาคม รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น

นพ.จักรรัฐ ชี้แจงประเด็น พบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย เดินทางพักเครื่องที่ไทย

 

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยมีการคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลา ใช้อุปกรณ์ชกมวยและกระสอบทรายร่วมกัน เมื่ออาการไม่ดีขึ้น วันที่ 25 พฤษภาคมจึงมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อพบประวัติเข้าได้กับโรคฝีดาษวานรจึงรายงานมายังกรมควบคุมโรคเพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ พร้อมทั้งส่งมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนผลการสอบสวนโรคในสถานที่เสี่ยง พบผู้ป่วยชาวต่างชาติอีก 2 ราย จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งผลการตรวจทั้ง 5 ราย พบว่าไม่ใช่โรคฝีดาษวานร แต่เป็นเชื้อเริม ทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยาอะไซโคลเวียร์ ขณะนี้แผลแห้งแล้ว