สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตรียมเปิดขาย พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นออมเพิ่มสุข ของกระทรวงการคลัง ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 55,000 ล้านบาท ผ่าน 2 ช่องทาง คือ การจำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) บนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และการจำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทน คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารไทยพาณิย์ และธนาคารกสิกรไทย วงเงิน 45,000 ล้านบาท เริ่มวันที่ 13 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
เงื่อนไขการขายพันธบัตร
1. รุ่นออมเพิ่มสุข (ขายผ่านวอลเล็ต สบม.) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ขายให้แก่ประชาชน 2 รุ่น ซื้อได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท - 10 ล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 13–30 มิถุนายน 2565 ได้แก่
- รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ต่อปี
- รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
2. รุ่นออมเพิ่มสุข (ขายผ่านธนาคาร) วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท ขายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรที่กระทรวงการคลังกำหนด ผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ลงทุนได้ตั้งแต่ 1,000 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 (15-19 มิถุนายน 2565) วงเงิน 40,000 ล้านบาท เปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยซื้อได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่
- รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 2.90 ต่อปี
- รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.60 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถซื้อได้ผ่านช่องทาง Counter Internet Banking และ Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง
ช่วงที่ 2 (20-30 มิถุนายน 2565) จำหน่ายให้แก่ประชาชนและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แบบไม่จำกัดวงเงินการซื้อ โดยจำหน่ายให้กับ
- ประชาชนในวงเงินคงเหลือจากช่วงที่ 1 ด้วยรุ่นอายุและเงื่อนไขเดียวกัน
- จำหน่ายให้นิติบุคคลไม่แสวงหากำไร วงเงิน 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเฉลี่ยร้อยละ 3.30 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยในรอบการจำหน่ายนี้ ได้เพิ่มนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อด้วย โดยจะพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิ์ซื้อจากข้อบังคับนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมที่ดินหรือสำนักงานเขต และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณ FB : กระทรวงการคลัง : Ministry of Finance