มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงการณ์เตือน อย่าผสมช่อดอกกัญชา ในอาหาร-เครื่องดื่ม

15 มิถุนายน 2565

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ 8 ข้อ แนะนำการใช้กัญชา เตือนย้ำอย่าผสม "ช่อดอกกัญชา" ในอาหาร-เครื่องดื่ม

จากกรณีที่ประเทศไทยเพิ่งจะปลดล็อกกัญชา ออกจากยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 เมื่อไม่นานมานี้ (9 มิ.ย. 65)  แต่หลังจากที่ได้มีการปลดล็อคไม่นานก็มีการนำไปผสมกับอาหารต่างๆ และมีบางคนได้รับประทานเข้าไปจนเกิดอาการแพ้จนต้องเข้าโรงพยาบาล หนักสุดถึงขั้นเสียชีวิตก็มีมาแล้ว      

ล่าสุดวันที่ 14 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามในแถลงการณ์มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับคำแนะนำและข้อเสนอแนะของมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง การใช้กัญชา โดยระบุว่า เนื่องด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุประเภทยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 ไม่ระบุว่าพืชกัญชา รวมถึงส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ช่อดอก เป็นสารเสพติดให้โทษนั้น กัญชาเป็นพืชที่มีสารแคนาบินอยด์หลายชนิด โดยเฉพาะสาร THC ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและไม่ควรใช้เพื่อการสันทนาการ เพราะอาจทำให้เกิดโทษรุนแรงได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลการใช้กัญชาอย่างรัดกุม

มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงการณ์เตือน อย่าผสมช่อดอกกัญชา ในอาหาร-เครื่องดื่ม

-สธ. ประกาศ กลิ่น ควัน กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ
-ชัชชาติ กังวล หลังปลดล็อคกัญชา เจอผู้ป่วยเด็ก เสพจน Overdose รักษาตัวใน ICU
-สายพันธุ์กัญชา และ ชนิดของกัญชา มีกี่สายพันธุ์

มหาวิทยาลัยมหิดล มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคม จึงมีข้อแถลงการณ์และข้อเสนอแนะ ดังนี้


1.ไม่ใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี โดยเด็ดขาด เพราะมีผลต่อการพัฒนาการของสมองทั้งในแม่และเด็ก


2.ไม่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาการทางจิต และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย


3.ไม่ใช้ช่อดอกของกัญชาเพื่อผสมในอาหารและเครื่องดื่ม หากมีการผสมส่วนใดๆ ของกัญชาในอาหารและเครื่องดื่มต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจน


4.ผู้ที่ใช้กัญชาไม่ควรขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักรในระยะ 6 ชั่วโมงหลังใช้กัญชา เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้สูง


5.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจิตประสาท โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ขอให้ปรึกษากับแพทย์ที่ให้การรักษาก่อนใช้กัญชาเสมอ เพราะอาจมีผลต่อยาและการรักษาที่ได้รับอยู่


6.ผู้ปกครองและสถานศึกษาควรดูแลให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากกัญชา รวมถึงประชาชน ควรร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอันตรายของกัญชา


7.ขอให้ภาครัฐและภาคสังคมมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้กัญชา และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


8.ขอให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้มีมาตรการและหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามดูแลการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพที่ดีแก่ประชาชนและสังคม

ผู้ที่ต้องการใช้กัญชาต้องศึกษาข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนเสมอ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์และแจ้งข้อมูลการได้รับกัญชาอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที


มหาวิทยาลัยมหิดลยินดีให้ข้อมูลและคำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับการใช้กัญชา ด้วยความมุ่งหวังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อสุขภาพและสังคมจากการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง

มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงการณ์เตือน อย่าผสมช่อดอกกัญชา ในอาหาร-เครื่องดื่ม