วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน “ 121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีของชาวอีสานตามแนวคิด ฮีต 12 ครอง 14 หรือประเพณีเดือน 8 หรือประเพณีวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ โดยชาวจังหวัดอุบลราชธานีปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ รักษาประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ของจังหวัดอุบลราชธานีให้คงอยู่สืบไป และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
โดยมีกิจกกรมให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้ชมก่อนและหลังงานประเพณีแห่เทียน ดังนี้ 1.กิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีทำเทียน วันที่ 1-12 กรกฎาคม 2565 ( ซึ่งเป็นกิจกรรมก่อนงาน ) ชมการตกแต่งต้นเทียนของคุ้มวัดต่างๆ ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ โดยมีชุมชนคุ้มวัด ที่จัดทำต้นเทียนเข้าร่วมประกวดจำนวน 13 แห่ง ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปร่วมกิจกรรมเช็คอิน และรับของที่ระลึกจากการร่วมกิจกรรม
2.กิจกรรมเทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน (กิจกรรมต่อจากสิ้นสุดแห่เทียน ต่อจากวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ) โดยมีคุ้มวัดในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ได้แก่ วัดมหาวนาราม วัดบูรพา วัดแจ้ง วัดพลแพน วัดพระธาตุหนองบัว วัดผาสุการาม และ ศูนย์การเรียนรู้วัดศรีประดู่ เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความงดงามของต้นเทียน ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าชุมชน OTOP บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีมือง การจำหน่ายและจัดแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มอาชีพต่างๆ ด้วยการนำสินค้ามาจัดจำหน่ายหรือจัดแสดง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวซื้อหรือสั่งโดยตรงและทางระบบแสดง QR Code / ออนไลน์ การแสดงแสง เสียง ประกอบขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน จุดที่ 1 บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม จุดที่ 2 บริเวณหน้าลานขวัญเมือง (หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า)ชมขบวนแห่เทียนพรรษาที่งดงามตระการตาประกอบแสงเสียงภาคกลางคืนชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมประกอบแสง เสียง ภาคกลางคืน (ลูกอีสาน) ในวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 เวลา 18.00 น และเวลา 08.30 น. วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 พิธีปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2565 ณ บริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนารา ชมขบวนต้นเทียน ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทเทียนโบราณจากคุ้มวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมงานตกแต่งเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา จำนวน 35 ต้น วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เมือง อุบลราชธานี และขบวนการแสดง จำนวน 17 ขบวน เพื่อแสดงถึงศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี และภูมิปัญญา ของชาวอีสาน
โดยมีจุดการแสดง จำนวน 5 จุด ให้นักท่องเที่ยวได้ชม โดยเริ่มตั้งแต่บริเวณปะรำ พิธีหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม หน้าลานขวัญเมือง (ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า) หน้าอุบลพลาซ่า/หน้าศาลแขวงจังหวัด อุบลราชธานี และจุดข้างโรงเรียนอนุบาล โดยการจัดงานมีการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยว ผู้เดินทางภายในงานต้องได้รับวัคซีนครบโดส ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย ตลอดงาน
ภาพ-ข่าว โดย วิชิต มีสวัสดิ์