ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด19 ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ หรือเป็น โควิดได้อีก แล้วทำไมยังต้องฉีดวัคซีน ยง ภู่วรวรรณ 15 กรกฎาคม 2565
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคโควิด 19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ และเช่นเดียวกัน ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อได้
การฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ จะช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคได้
การฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะกระตุ้นภูมิต้านทานจำเพาะ ต่อ B และ T เซลล์
ภูมิต้านทาน ต่อ B เซลล์ จะเป็นการสร้าง แอนติบอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมาจับกับเซลล์ และป้องกันการติดเชื้อ ภูมิที่สร้างขึ้นในระยะแรกจะมีระดับสูง เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ และจะลดลงตามระยะเวลา ในขณะเดียวกัน ไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นอีก จึงไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้
แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว การหายของโรค รวมทั้งลดความรุนแรง ระบบ T เซลล์ จะเข้ามาช่วยจัดการ ให้หายได้เร็วขึ้น และระบบนี้ยังมีหน่วยความจำ ให้รู้จักหน้าตาของไวรัส เข้ามาเสริม สนับสนุนให้ B เซลล์ สร้างภูมิต้านทานได้เร็วขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อจริง
การฉีดวัคซีนจึงเปรียบเสมือน การฝึกทหารเกณฑ์ ให้รู้จักข้าศึกหรือตัวไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปหรือยามสงบ ก็ปลดเป็นกองหนุน และเมื่อมีข้าศึกหรือไวรัสเข้ามา ทหารที่ผ่านการฝึกแล้ว เคยเห็นหน้ารู้จักข้าศึกหรือไวรัส พร้อมที่จะต่อสู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปฝึกยุทธวิธีใหม่ และถ้าฝึกมานานแล้ว จำเป็นจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก เพื่อ เอาทหารกองหนุนมาฝึกอีกครั้งหนึ่ง ให้ชำนาญยิ่งขึ้น และยามปกติก็จะปลดประจำการ และจำเป็นจะต้องมีการฝึกเป็นครั้งคราว หรือกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นครั้งคราว เผื่อเวลามีข้าศึกมา จะได้มีความชำนาญพร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันที ทำให้อาการของโรคลดลง
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews