หมอนิธิพัฒน์ เผยข้อมูลโควิด-19 สัญญาณเสี่ยงติดเชื้อแล้วอาการป่วยรุนแรง

19 กรกฎาคม 2565

หมอนิธิพัฒน์ เผยข้อมูลโควิด-19 เช็กสัญญาณเสี่ยงติดเชื้อแล้วอาการป่วยรุนแรง เพื่อได้เข้ารับการรักษาเร่งด่วนในโรงพยาบาล

หมอนิธิพัฒน์ หรือ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล โดยระบุว่า สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำยังทรงตัวเมื่อย่างเข้าสู่วันที่สองหลังช่วงหยุดยาว บุคลากรที่เคยติดเชื้อลดไปหลักสิบกว่า เริ่มขึ้นมาใหม่ที่ห้าสิบกว่า แต่ก็ยังน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงจุดสูงสุดเมื่อต้นเดือนนี้ ส่วนผู้ป่วยตกค้างรอเข้าไอซียูโควิดไม่มีแล้ว เหลือแต่ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นแต่ติดเชื้อโควิด ที่รอการหมุนเวียนเข้ารับการรักษาในเตียงผู้ป่วยโควิดที่แทรกอยู่ในวอร์ดผู้ป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อโควิดแต่ญาติไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ เราจะทำให้ดีที่สุดไม่ให้เสียประโยชน์ทั้งผู้ป่วยทั่วไปอื่นๆ ผู้ป่วยโรคอื่นที่ติดเชื้อโควิด และผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง

หมอนิธิพัฒน์ เผยข้อมูลโควิด-19 สัญญาณเสี่ยงติดเชื้อแล้วอาการป่วยรุนแรง

ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อวานอยู่ที่ 794 คน ใกล้ทะลุแนวต้านแรกที่ 800 ได้แล้ว และยอดผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ 10,974 คน ใกล้ทะลุแนวต้านแรกที่ 11,000 ได้เช่นกัน (ล่าสุดเมื่อครู่หลังแปดโมง ทะลุทั้งสองแนวต้านแล้ว) สำหรับตัวเลขผู้ป่วยตรวจพบเชื้อแล้วแยกกักตัวที่บ้าน สัปดาห์ที่ 10-16 ก.ค. อยู่ที่ 143,827 คน ซึ่งลดจากสองสัปดาห์ก่อนที่ 207,643 และลดจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ 149,537 แต่ต้องระวังว่าน่าจะมีผู้ไม่รายงานเข้าในระบบอีกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ดังนั้นยอดผู้ติดเชื้อปัจจุบันยังน่าจะอยู่ที่ราวห้าหมื่นคนต่อวัน อาจทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย ถ้าอยู่ขาทรงหรือขาลงจริง การกระเพื่อมหลังช่วงหยุดยาวจึงไม่น่าเป็นระลอกใหญ่ ผมเชื่อว่าผ่านโอไมครอนมาตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4, และ BA.5 คนกรุงเทพติดเชื้อโอไมครอนไปแล้วเกินครึ่งเมือง จึงไม่น่าเหลือให้มาระบาดใหญ่อีก เหลือแค่กระเพื่อมเล็กน้อยเป็นช่วงๆ จากพวกที่ยังรอดตัวอยู่ หรือพวกที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้วมานานเกิน 4 เดือนขึ้นไป

 

ประชาชนควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การอยู่ร่วมกับโควิดแบบโรคประจำถิ่น

หนึ่ง...เข้ารับวัคซีนโควิดเข็มมาตรฐานให้ครบ และเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยหนึ่งเข็มสำหรับคนทั่วไป และสองเข็มอย่างน้อยสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง หรือคนที่มีอาชีพต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา หรือคนที่ต้องคอยดูแลคนกลุ่มเปราะบาง วัคซีนช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงและลดโอกาสการเสียชีวิตจากโควิดได้ แถมยังช่วยลดโอกาสและลดความรุนแรงของกลุ่มอาการลองโควิดได้อีกด้วย

สอง...ทำกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคม อย่างมีสติและพอประมาณ ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา และพร้อมจะปรับเปลี่ยนให้รัดกุมขึ้นเมื่อมีสถานการณ์โรคกระเพื่อม

หมอนิธิพัฒน์ เผยข้อมูลโควิด-19 สัญญาณเสี่ยงติดเชื้อแล้วอาการป่วยรุนแรง

สาม...ทำความคุ้นเคยและรู้จักกับโควิดในฐานะโรคประจำถิ่น ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ดูแลตนเองที่บ้านได้เมื่อเกิดการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ซึ่งคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางส่วนใหญ่ใช้แค่เพียงยารักษาตามอาการก็พอ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสใดๆ ทั้งสิ้น

ท้ายสุดคือต้องตรวจจับสัญญานการติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยรุนแรงให้ได้เร็ว คือ ไข้สูง หายใจเร็วและหายใจหอบเหนื่อย (ถ้าวัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำร่วมด้วยก็จะแม่นยำขึ้น) หรือ มีชีพจรเต้นเร็วโดยไม่ทราบเหตุ เพื่อที่จะได้ประสานงานเข้ารับการรักษาโดยรีบด่วนในโรงพยาบาล

ขอบคุณ FB : นิธิพัฒน์ เจียรกุล

 

ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews