จากที่ก่อนหน้านี้ อดีตทหารหญิงให้ข้อมูลว่า เจ๊นุช หรือ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม เป็นคนสั่งให้นำเงิน 50,000 บาท เพื่อไปซื้อวุฒิการศึกษา เนื่องจากได้รับคำสั่งจาก ส.ต.ท.หญิง เพื่อวางแผนในการฝากเข้ารับราชการ ซึ่งมีรายงานว่ามีชื่ออยู่ในมหาวิทยาลัยจริง แต่ไม่พบว่าเคยไปเรียน
โดยทางด้าน รองอธิการมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดเผย ว่า การที่ผู้เสียหายออกมาให้ข้อมูลเช่นนี้ ไม่รู้ว่าจะเป็นการดิสเครดิตกันหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ส.ต.ท.หญิง เป็นนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยจริง เข้ามาศึกษาตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้วุฒิปวส.เข้ามาสมัครเข้าเรียน จบการศึกษาในปี 2561 มีการเรียนในระยะเวลาประมาณ 3 ปีครึ่ง
ส่วนการรับเข้าเรียนในคณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ผู้ที่จบวุฒิ ม.6 หรือ ปวส.ทุกสาย ก็สามารถสมัครเข้าเรียนได้ และจากการตรวจสอบในระบบพบว่า ส.ต.ท.หญิงรายนี้ จ่ายค่าเทอมจำนวน 158,228 บาท อย่างถูกต้อง และทางมหาวิทยาลัยออกให้เกรดให้อย่างถูกต้อง
ตามรายงานระบุว่า ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ เรียนคณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ วุฒิเดิมประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง ในปีสำเร็จการศึกษา 2542 และมีการเทียบโอน 15 หน่วยกิต ซึ่งเข้าเรียนวันที่ 1 ส.ค. 58 รหัสเริ่มต้นที่ 58 และสำเร็จการศึกษา วันที่ 31 พ.ค. 61 โดยในใบทรานสคริปต์ระบุหน่วยกิต 120 หน่วย จบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.65
สำหรับข้อสงสัยเรื่องการเรียนทางไกลแบบออนไลน์ หรือการเทียบโครงหลักสูตรในเว็บไซต์มหาลัย ระบุว่า คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตร รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ต้องเรียนครบ 120 หน่วยกิต ซึ่งในเอกสารระบุไว้ว่าเป็นหลักสูตรแบบ 4 ปี
ข้อจำกัดในการลงเรียนในแต่ละภาคเรียนการศึกษา เทอม 1-2 จะลงได้แค่ 15 หน่วยกิต และในหลักฐานทรานสคริปต์ การที่ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ โอนมา 15 หน่วยกิต อย่างน้อยก็ต้องเรียน 3 ปี หรือ 3 ปีครึ่ง จึงจะสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ ตามหลักฐานโครงสร้างหลักสูตรของมหาวิทยาลัย
ส่วนหลักฐานเรื่องการขึ้นเงินเดือน มีเอกสารรายละเอียดการขึ้นเงินเดือน และให้ได้รับเงินตอบแทนพิเศษ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 ประจำครึ่งปีแรก 1 เม.ย. 65 เป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ให้เน้นลำดับที่ 241 จาก 14,060 บาท เป็น 14,560 บาท
ส่วนจะถามหาหลักฐานการเซ็นเอกสารการเข้าห้องสอบของ ส.ต.ท.หญิงรายนี้นั้น ต้องขอบอกว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการเก็บเอกสารของนักศึกษาที่จบไปนานแล้ว อีกทั้งนักศึกษามีเป็นหมื่นคน ส่วนเรื่องของการทำวิทยานิพนธ์ หรือ ธีสิส ผศ.ดร.วิทยา ระบุว่า หลักสูตรป.ตรี ที่นี่ไม่มีการทำวิทยานิพนธ์ หรือการทำธีสิสจะทำเฉพาะระดับปริญญาโท หลักสูตรได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานของกระทรวงศึกษาและสภามหาวิทยาลัย
กับประเด็นเรื่องการเข้าห้องเรียนก็ไม่เกี่ยวกับโควิดแล้ว เพราะปี 2558 ยังไม่มีการแพร่ระบาด แต่มหาลัยมีสอนทางไกลมานานแล้ว ซึ่งผู้เสียหายอาจจะไม่ทราบแล้วเข้าใจผิด
กับกรณีที่ผู้เสียหาย มีการอ้างว่านำเงินสด 50,000 บาทไปจ่ายค่าคุณวุฒิ ตนก็ไม่รู้ว่าจ่ายอะไร อาจจะเป็นการจ่ายค่าเทอมหรือไม่ ให้ฟังจากฝ่ายผู้ต้องหาด้วย เพราะเขาทั้ง 2 คน เป็นคู่กรณีกัน ไม่ทราบว่าเป็นการดิสเครดิตหรือไม่ ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินค่าเทอม ทางมหาวิทยาลัยก็เปิดให้มีการจ่ายได้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของมหาวิทยาลัยและการเข้ามาชำระเงินที่ฝ่ายการเงินของมหาลัย
"ตอนนี้เท่าที่ตรวจสอบ ยังไม่พบความผิด ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบคนทำผิด กระทำการทุจริต ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงก็จะลงโทษตามกฎหมาย ถ้าหากตำรวจต้องการตรวจสอบทางมหาวิทยาลัยยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบ ขอยืนยันว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่มีการซื้อขายปริญญาบัตรแน่นอน" รองอธิการมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews