กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้สำรวจแนวปะการังและพบโรคปะการังแถบสีเหลือง ครั้งแรกในปี 2564 บริเวณหมู่ เกาะสัตหีบ เจ้าหน้าที่จึงทำการสำรวจการแพร่กระจายทั่วอ่าวไทย พร้อมได้ทำการศึกษาอัตราการลุกลามและผลกระทบต่อปะการังมาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจระบบนิเวศแนวปะการัง ในปี 2564 - 2565 จำนวนทั้งสิ้น 90 สถานี ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนและตอนกลาง พบว่าโรคแถบสีเหลืองนั้นกระจายตัวอยู่ เฉพาะบริเวณเกาะสัตหีบ - แสมสาร จังหวัดชลบุรี จำนวน 11 สถานี นับเป็นรายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกในประเทศไทย
ปะการังส่วนใหญ่ที่สำรวจพบว่าเป็นโรค ได้แก่ ปะการังโขด (Poritesspp.)และปะการังเขากวาง (Acropora spp.) โดยปริมาณการพบคิดเป็นร้อยละ 1 - 10 ของปะการังทั้งสองชนิด ทั้งนี้ สามารถพบโรคได้ในปะการังชนิดอื่นๆ ด้วย แต่พบในปริมาณที่น้อย ได้แก่ ปะการังลายดอกไม้ (Pavona spp.) ปะการังดอกไม้ (Goniopora sp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocilloporasp) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ปะการังช่องเล็ก (Montipora spp.) และปะการังช่องเหลี่ยม (Favites sp.)
ลักษณะอาการของโรคพบว่าเนื้อเยื่อของปะการังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองชัดเจน หลังจากนั้นเนื้อเยื่อจะตาย และเริ่มมีสาหร่าย มาปกคลุมส่วนที่ตาย การลุกลามประมาณ 1 เซนติเมตร/เดือน ในปะการังโขด Poritesและประมาณ 1 - 6 เซนติเมตร/สัปดาห์ ในปะการังเขากวาง Acroporaและหากส่วนไหนของ ปะการังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วนั้น ปะการังส่วนนั้นจะตาย ส่วนสาเหตุการเกิดโรค ณ ปัจจุบันยังไม่ สามารถระบุเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวได้ แต่จากรายงานในต่างประเทศพบว่า เกิดจากแบคทีเรีย Vibrio alginolyticus
สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 65 เจ้าหน้าที่กรม ทช. ร่วมกับทัพเรือภาค 1 มูลนิธิกิจกรรม วิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ บมจ. เอจีซี วีนิไทย คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และอาสาสมัครนักดำน้ำ ร่วมปฏิบัติการแยกปะการัง ส่วนที่เป็นโรคแถบสีเหลือง ออกมาจากปะการังที่ไม่เป็นโรค เพื่อป้องกันการติดต่อลุกลามและหยุดยั้งการตายของปะการัง บริเวณเกาะขาม จังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ตามจากการปฏิบัติการ ดังกล่าวสามารถนำปะการังที่เป็นโรคออกมาได้ แค่บางส่วน
แต่ยังคงเหลืออีกจำนวนมากทั้งบริเวณเกาะขามและในหลายพื้นที่บริเวณสัตหีบ - แสมสาร สำหรับการดำเนินงานของกรม ทช. ได้ทำการประสานกับหลายภาคส่วน ได้แก่ คณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันศึกษาระบาดวิทยา ของโรคที่พบในปะการัง ในขณะเดียวกัน ทช. กำลังเร่งดำเนินการแยก ปะการังที่เกิดโรคออกจากบริเวณดังกล่าว โดยอาศัยความร่วมมือจากนักดำน้ำอาสาสมัครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป