วันที่ 29 สิงหาคม 2567 คืบหน้า "อุโมงค์รถไฟถล่ม" หลังล่าสุดมีการเปิดเผยถึงสาเหตุคนงานคนแรกเสียชีวิต เกิดจากการขาดอากาศหายใจ และน่าจะเสียชีวิตมา 3-5 วันแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ยังมีข่าวออกมาว่าพบสัญญาณชีพของคนงาน 3 ราย ติดในอุโมงค์รถไฟถล่มนั้น ทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้แนะให้เลิกใช้คำว่า "สัญญาณชีพ" เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
โดยเมื่อเวลา 11.00 น. ได้รับแจ้งยืนยันจากทีมกู้ภัยของการรถไฟฯ และทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากประเทศจีน ว่าพบคนงานคนแรกที่ติดอยู่ในอุโมงค์รถไฟถล่มเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ โดยปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานทั้ง 3 ราย ทีมงานกู้ภัยต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทั้งจากปัญหาดินสไลด์ลงมาจากด้านบนอุโมงค์อย่างต่อเนื่องทำให้ต้องใช้เวลาในการขุดดินเพิ่มมากขึ้น
การดันท่อช่วยชีวิตแล้วติดชั้นหินจนเจ้าหน้าที่ต้องเปลี่ยนวิธีเป็นการสร้างกล่องค้ำยัน เพื่อป้องกันดินและหินที่ไหลลงมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ทีมกู้ภัยยังคงทำงานกันอย่างหนัก ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งค้นหาคนงานที่เหลืออีก 2 ราย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ได้เผยถึงสาเหตุเสียชีวิตเบื้องต้นของคนงานอุโมงค์รถไฟถล่ม ว่า จากการตรวจสอบศพแรกที่พบในอุโมงค์ พบว่าเสียชีวิตมาประมาณ 3-5 วันแล้ว จากการขาดอากาศหายใจ ทั้งนี้ต้องรอการชันสูตรศพอย่างละเอียดอีกครั้ง และรอข้อมูลทางการแพทย์ทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาด้วย
นอกจากนี้นายอนุทิน เผยว่า เครื่อง LifeLocator (เครื่องเรดาห์สำหรับค้นหาผู้ประสบภัยใต้ซากอาคาร) ใช้จับความเคลื่อนไหว ลักษณะความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้
แต่ล่าสุดวันนี้แพทย์ ได้แนะนำว่าไม่ให้ใช้คำว่า "จับชีพจร" หรือ "สัญญาณชีพ" เพื่อจะได้ไม่สับสน แต่ให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า "จับความเคลื่อนไหว" แทน
ซึ่งสาเหตุที่แม้คนงานจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ยังตรวจพบความเคลื่อนไหวนั้น ทางการแพทย์ อธิบายว่า แม้ร่างกายเสียชีวิตไปแล้วแต่อวัยวะในร่างกายอาจยังเคลื่อนไหวได้ช่วงหนึ่ง คือยังไม่นิ่งสนิท เครื่องจึงจับเจอความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คาดว่ายังมีชีวิตอยู่ก่อนจะพบร่างในวันนี้นั่นเอง อย่างไรก็ตามหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง