วันนี้ (20 ก.ย. 67) เวลา 11.45 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 70 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 19 - 25 ก.ย. 2567 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัดอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 12 (204/2567) ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 เวลา 04.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อน “ซูลิก” บริเวณประเทศลาวได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.นครพนม ประมาณ 100 กิโลเมตร
ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 16/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 แจ้งว่าได้วิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 19 - 25 กันยายน 2567 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต ตรัง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสาย (จ.เชียงราย อ.แม่สาย) แม่น้ำกก (จ.เชียงใหม่ อ.แม่อาย จ.เชียงราย อ.เมืองฯ เชียงแสน) แม่น้ำอิง (จ.พะเยา อ.เมืองฯ) แม่น้ำยม (จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ) แม่น้ำป่าสัก (จ.เพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก หนองไผ่) แม่น้ำเลย (จ.เลย อ.เชียงคาน) ห้วยหลวง (จ.อุดรธานี) แม่น้ำสงคราม (จ.อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครพนม) แม่น้ำจันทบุรี (จ.จันทบุรี อ.เมืองฯ มะขาม) และแม่น้ำตราด (จ.ตราด อ.เมืองฯ เขาสมิง บ่อไร่)
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 70 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วใมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน พื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเจ้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด รวมถึงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด