เงินเยียวยาน้ำท่วม ครม.ไฟเขียว เยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มาตรการนี้เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถฟื้นฟูชีวิตและทรัพย์สินที่เสียหายได้
จิรายุ เผย ครม.เห็นชอบ เงินเยียวยาน้ำท่วมครัวเรือนละ 9,000 บาท ยัน น้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน ชี้ น้ำเขื่อนภูมิพลยังอยู่ปริมาณเหมาะสม ส่วนเขื่อนเจ้าพระยาการระบายน้ำไม่มีปัญหา ด้าน รมช.ธีรรัตน์ เผย เงินเยียวยาไม่รวมกับค่าซ่อมบ้าน 2.3 แสนบาท
วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติเงินเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ ส่วนผู้ประสบภัยที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว 5,000 บาท ก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 4,000 บาท เพื่อให้ครบกับหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลวางแนวทางไว้
ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาสามารถจ่ายได้ทันที โดยใช้ข้อมูลที่ประชาชนมาลงทะเบียนไว้ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ เงินเยียวยา 9,000 บาท ไม่รวมกับค่าซ่อมบ้าน หากบ้านถูกน้ำท่วมพังเสียหายทั้งหลัง 2.3 แสนบาทต่อครัวเรือน
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการปรับเกณฑ์การเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมากำหนดกรอบจ่ายครัวเรือนละ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่ครม.เห็นว่าพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีทั้งสิ้น 57 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้น ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์รับเงินเกณฑ์เดียวคือครัวเรือนละ 9,000 บาท จึงขอให้ท่านติดตามตรวจสอบจากจังหวัดของท่าน ซึ่งไม่รวมกรณีบ้านพังทั้งหลัง บาดเจ็บ ล้มตาย และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย บอกต้องประชุมทุกวันเพื่อจะได้ออกประกาศเตือนพี่น้องประชาชน ขณะที่กระทรวงกลาโหมรายงานว่าที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ ได้ขนย้ายสัตว์ต่างๆออกจากพื้นที่แล้ว และมีรายงานว่ามีช้างล้ม 2 เชือก โดยจะใช้วิธีการเผา นอกจากนี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมสร้าง และนายกฯยังขอให้มีโรงครัวไว้ถึงสิ้นเดือน แต่หากถึงเวลายังมีพี่น้องประสบภัยยังต้องการอาหารก็ให้คงโรงครัวไว้
ขณะที่ กระทรวงมหาดไทยรายงานว่าขณะนี้ให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ เช่น บริษัททำรถไฟรางคู่ให้นำเครื่องมือไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ จ.ลำพูน บางพื้นที่มีน้ำท่วม 15 – 30 ซม. คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล น้ำที่มาจาก จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตาก เขื่อนยังสามารถรับน้ำได้ ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยประชาชนท้ายเขื่อน และกทม. สามารถติดตามข่าวสารได้อย่างใกล้ชิดและยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน
เพราะการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังระบายน้ำได้ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีการสั่งการเรื่องการบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนทั่วทุกภูมิภาค ให้คำนวณด้านการปล่อยน้ำให้เหมาะสม แม้จะใกล้เข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวแล้ว แต่ยังให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 1 พ.ย. เพื่อประเมินอีกครั้ง