เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) บางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ได้พิจารณายกเลิกคำสั่ง คสช.โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.ของคณะรัฐมนตรีดังนี้
ณ วันนี้ยกเลิกแล้ว 36 ฉบับ
ในรายละเอียดมีบัญชีแนบท้าย 23 รายการ รวมทั้งได้พิจารณายกเลิกเพิ่มจากร่างของพรรคการเมืองอื่น ๆ อีก 13 รายการ ได้แก่ คำสั่ง คสช.ที่ 10/2557, 26/2557, 80/2557 และ 22/2561 รวมถึงคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 14/2561, 3/2558, 53/2560 และ 13/2561 และ ประกาศ คสช.ที่ 39/2557, 40/2557, 57/2557, 1/2562 และ 2/2562 ทำให้ ณ วันนี้กรรมาธิการพิจารณายกเลิกไปแล้วทั้งหมด 36 ฉบับ
แบ่งประกาศและคำสั่งเป็น 3 กลุ่มตามความยากง่าย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการกล่าวว่า ทั้ง 36 ฉบับนี้สามารถทำได้โดยง่ายเพราะเป็นคำสั่งที่หมดความจำเป็น ทั้งไม่ต้องเขียนกฎหมายมารองรับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องต้องกันว่ายกเลิกได้ แต่ตนเห็นว่ายังมีอีกหลายฉบับที่ไม่สามารถดำเนินการได้โดยง่าย ซึ่งกรรมาธิการได้จัดกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม ตามความยากง่าย ดังนี้
กลุ่มที่ยกเลิกได้ง่ายที่สุดคือประกาศ/คำสั่งที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชน จำนวน 17 ฉบับ ซึ่งไม่มีความจำเป็นแล้ว และการยกเลิกเพิ่มในร่าง พ.ร.บ.ก็ทำได้โดยง่าย เช่น ไม่ต้องเขียนบทรองรับ หรือถ้าต้องเขียนบทรองรับก็ไม่ได้ซับซ้อน ในกลุ่มนี้กรรมาธิการจะสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ถ้าไม่มีการดำเนินการที่ค้างอยู่ หรือไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีที่จะกระทบฝ่ายใดให้เสียสิทธิ์ ก็จะพิจารณาได้เร็ว ซึ่งได้แก่ คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 39/2559, 14/2561, 22/2561, 3/2558, 5/2558, 2/2559, 13/2559, 25/2559, 41/2559, 75/2559, 7/2561, 7/2562, 5/2560 และ 18 /2561 รวมถึงประกาศ คสช.ที่ 2/2559, 1/2562, และ 2/2562
กลุ่มต่อมาคือกลุ่มที่จะไม่ดำเนินการยกเลิกในกรรมาธิการนี้ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการดำเนินการ เพราะการยกเลิกต้องมีการแก้ไขกฎหมายเสียก่อน รวมทั้งอาจเป็นคำสั่งที่เป็นคุณไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังจำเป็นต้องใช้ ได้แก่ คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 2/2561, 19/2561, 17/2558, 74/2559, 26/2559, 9/2560, 27/2560, 30/2560, 32/2559 และ 77/2559
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จำนวน 21 ฉบับ ในกลุ่มนี้ถ้าจะยกเลิกในกรรมาธิการนี้จะต้องเป็นประกาศ/คำสั่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายกเลิกได้และไม่ต้องเขียนบทรองรับที่ซับซ้อน ส่วนประกาศ/คำสั่งที่จะไม่ยกเลิกในกรรมาธิการนี้เพราะต้องมีการแก้กฎหมายใหม่ หรือต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบจนใช้เวลานานเกินไปเพื่อเขียนเป็นบทรองรับที่ซับซ้อน รวมทั้งมีบางฉบับที่กำลังมีการแก้ไขกฎหมายอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ประมง กรือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็จะไม่ยกเลิกในกรรมาธิการนี้เช่นกัน
ยกเลิกต้องทำได้ในเวลาไม่ยาวและไม่ซับซ้อนเกินไป
นายจาตุรนต์ เห็นว่า ในกลุ่มสุดท้ายนี้พิจารณายาก ซึ่งตนเคยมีประสบการณ์ในการยกเลิกคำสั่งประเภทนี้มาก่อนซึ่งใช้เวลาพิจารณาคำสั่งหนึ่ง ๆ มากกว่า 3-9 เดือน ถ้าทำในกรรมาธิการนี้ทุกฉบับก็จะกินเวลาหลายปี ดังนั้นในกลุ่มนี้กรรมาธิการจะเขียนเป็นข้อสังเกตุเพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป หรืออาจเสนอให้จัดกลุ่มประกาศ/คำสั่งที่มีความใกล้เคียงกัน และเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกเป็นกลุ่มประเภทได้
“เราพยายามจะทำให้ได้ยกเลิกคำสั่งที่หมดสมัยแล้ว ไม่เหมาะกับสถานการณ์แล้ว และกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือมีไว้จะไม่เป็นประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนและต่อบ้านเมือง แต่ต้องทำได้ในเวลาที่ไม่ยาวเกินไป ไม่ต้องเขียนบทรองรับที่ซับซ้อนเกินไป ก็คิดว่าการทำงานจะเร็วขึ้นและจะเสร็จสิ้นภายในสมัยประชุมหน้า” ประธานกรรมาธิการ กล่าว