"พายุจ่ามี" ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง "พายุจ่ามี" ฉบับที่ 8 (241/2567) เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (26 ต.ค. 2567) พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 310 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำประเทศจีน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 17.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 26–28 ต.ค. 67 โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตก และลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงเหนือจากทะเลอันดามันและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีลมแรงในช่วงวันดังกล่าว หลังจากนั้นพายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง
ลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 26–29 ต.ค. 67 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
ในวันที่ 26 ตุลาคม 2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก : จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดพังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล
ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567
ภาคเหนือ : จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา สุรินทร์ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ในวันที่ 28–29 ตุลาคม 2567
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 11.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.
สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา