ตามที่มีผู้ส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง พายุจ่ามีไปภาคอีสานหลายจังหวัด ถึง 29 ต.ค. 67 จากนั้นจะลดน้อยลงและเข้าสู่ฤดูแล้ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีข่าวสารแจ้งเตือนระบุว่า พายุจ่ามีไปภาคอีสานหลายจังหวัด ถึง 29 ต.ค. 67 จากนั้นจะลดน้อยลงและเข้าสู่ฤดูแล้ง ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากพายุจ่ามีไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีลมแรง หลังจากนั้นพายุได้เปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ ตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “จ่ามี” ฉบับที่ 16 (249/2567) พบว่าเมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา พายุโซนร้อนจ่ามีบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
โดยในช่วงวันที่ 28–29 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวปลอมนี้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather หรือสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : พายุจ่ามีไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง และหลังจากวันที่ 28 ต.ค. 2567 พายุได้อ่อนกำลังลงและเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งประเทศเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม