เศร้า "กันยา" ลูกช้างป่าพลัดหลง กลับดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้ว

06 พฤศจิกายน 2567

"พังกันยา" ลูกช้างป่าพลัดหลงจาก จ.บึงกาฬ ล้มแล้ว หลังป่วย EEHV ทีมสัตวแพทย์ รพ.ช้างลำปาง และควาญพี่เลี้ยงระดมกำลังรักษาอย่างเต็มที่ ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้ว

  วันที่ 6 พ.ย. 2567  "กันยา" ลูกช้างป่าพลัดหลง กลับดาวช้าง จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC ได้โพสต์แจ้งข่าวเศร้า ลูกช้างป่าพลัดหลง "พังกันยา" ล้มแล้ว เมื่อเวลา 23.31 น. ของวันที่ 5 พ.ย. 2567 หลังเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยไวรัส EEHV หรือ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยทางเพจได้ระบุว่า

 

เศร้า \"กันยา\" ลูกช้างป่าพลัดหลง กลับดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้ว

 

  "5 พฤศจิกายน 2567 - 23.31 น. ขอให้ได้ไปวิ่งเล่นอย่างมีความสุขบนดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้วนะ เด็กหญิงกันยา"


โดย น้องกันยา ล้มลง เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา หลังถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วย EEHV หรือ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง ซึ่งถือเป็นโรคไวรัสที่มีความอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตในกลุ่มช้างอายุน้อยหรือลูกช้าง ที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

 

หลังเมื่อวานทางโรงพยาบาลแจ้งว่า "พังกันยา" มีอาการของโรคไวรัส EEHV ชัดขึ้น คือ หน้าบวมมากขึ้น และพบจุดเลือดออกที่ลิ้น มีอาการซึมลง กินได้น้อยลง ไม่มีไข้ อึเป็นเมือกค่อนข้างเหลวและมีกลิ่นเหม็น ฉี่ได้ 1 ครั้ง หลังจากที่ไม่พบฉี่เลยตั้งแต่มาแอดมิด ทางคุณหมอจึงพิจารณาให้เพิ่มการรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์ โดยจะเป็นการรักษาทางเลือกเพิ่มเติมจากการรักษาหลัก ซึ่งสเต็มเซลล์ 100 ล้านยูนิต จะถูกส่งจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง ช่วงกลางดึกที่ผานมา ซึ่งคุณหมอมีกำหนดจะเริ่มฉีดให้ "พังกันยา" ในวันนี้ (6 พ.ย.67) แต่ได้เกิดเรื่องเศร้า "พังกันยา" ล้มลงก่อนที่สเต็มเซลล์จะมาถึง

เศร้า \"กันยา\" ลูกช้างป่าพลัดหลง กลับดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้ว

 ในขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ร่มแดนช้าง Tusker Shelter ระบุว่า "ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว พร้อมขอบคุณสถาบันคชบาลแห่งชาติที่ให้การดูแลและให้คำแนะนำในการอนุบาลเลี้ยงดูช้างน้อยกันยา จนถึงวันที่ลูกช้างมีอาการป่วย ทางโรงพยาบาลช้างได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่"

ด้าน กัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ได้โพสต์ข้อความว่า "น้องกันยาได้พักแล้วนะคะ น้องสู้ที่สุด ขอหนูสู่ภพที่สูงนะลูก" 

"ขอบคุณทุกคน ทุกฝ่าย ที่ช่วยดูแลเลี้ยงดูน้องกันยา ตั้งแต่วันแรกที่พบเจอน้อง จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตน้อง ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว เพราะน้องมีควาญอยู่ใกล้ชิด จึงสังเกตเห็นอาการโดยเร็ว และรีบบริหารจัดการช่วยเหลือน้อง แต่น้องมีต้นทุนมาน้อยกว่าคนอื่นเขาถึงจะช่วยกันเต็มที่อย่างไร น้องก็ไม่ไหวค่ะ ตลอดชีวิตน้องที่อยู่ที่ภัทรฟาร์ม ทุกคนก็เห็นแล้วว่าน้องมีครอบครัวที่อบอุ่น ทั้งครอบครัวมนุษย์และครอบครัวช้าง น้องได้ใช้ชีวิตที่มีความสุข เห็นคลิปที่น้องเอางวงกอดแขนพ่อขลุ่ย ในวันสุดท้าย มีการพยักหน้าที่บวม เหมือนน้องจะรู้ตัวว่า จะต้องไปแล้ว ด้วยพลังบวกของทุกคน และพฤติกรรมดีที่น้องทำมาตลอดแม้จะไม่รู้ตัว ส่งน้องสู่ภพภูมิที่งดงามแน่นอนค่ะ"


สำหรับ "น้องกันยา" ลูกช้างป่าพลัดหลงมาเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 และได้รับการช่วยเหลือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ และถูกนำมาเลี้ยงกับช้างแม่รับ "พังโมลา"  ที่ Patara Elephant Farm อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ด้วยความน่ารัแสนรู้ของน้องกันยา ทำให้เป็นหนึ่งในซุปตาร์สัตว์ขวัญใจคนรักช้างทั่วโลก จนได้รับฉายาว่า “ลูกสาวแห่งชาติ”


สำหรับ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (EEHV) ในช้าง เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นการประคับประคองตามอาการ โดยเฉพาะช้างเล็ก 6 เชือกอายุ 2-3 ปี เพราะถือเป็นช่วงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และมีความเสี่ยงสูงจะติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส ซึ่งช้างที่ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงจากเชื้อที่ทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้ของเหลวออกนอกเส้นเลือด ระบบอวัยวะภายในเสียหาย และจะล้มอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน

  เศร้า \"กันยา\" ลูกช้างป่าพลัดหลง กลับดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้ว

ทำไม EEHV ถึงอันตรายต่อลูกช้าง?

  • ความรุนแรงของโรค โรคนี้มีอาการรุนแรงและพัฒนาเร็วมาก ภายใน 1-2 วัน ลูกช้างที่ติดเชื้ออาจเสียชีวิตได้
  • อัตราการเสียชีวิตสูง สถิติพบว่าลูกช้างที่ติดเชื้อ EEHV มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 60-70%
  • ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค EEHV ที่มีประสิทธิภาพ
  • ยากต่อการรักษา การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการ เน้นการดูแลประคับประคอง และให้ยาต้านไวรัส

อาการของโรค EEHV

  • ซึมลง
  • ไม่อยากอาหาร
  • อุณหภูมิร่างกายสูง
  • มีเลือดออกตามไรฟัน เหงือก หรืออวัยวะภายใน
  • ท้องเสีย
  • ปัสสาวะสีเข้ม

กลุ่มเสี่ยง

  • ลูกช้างอายุต่ำกว่า 5 ปี ลูกช้างในช่วงอายุนี้มีระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
  • ช้างที่อยู่ในสภาพเครียด เช่น ถูกขังหรือถูกแยกจากฝูง จะมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น