เปิด 10 จังหวัด คนจนเยอะสุดในไทย ตกใจ 2 จังหวัด ครองแชมป์ 5 อันดับแรก ยาวนาน 15 ปี

12 พฤศจิกายน 2567

เปิด 10 จังหวัดที่มีคนจน มากที่สุดในประเทศไทย พบ 2 จังหวัด ครองแชมป์ 5 อันดับแรก ยาวนาน 15 ปี โดยภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูง

เรียกได้ว่าปัญหาความยากจนในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566  

 

 

พบว่า สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 มีจำนวน 3.79 ล้านคน ลดลงมาเหลือ 2.39 ล้านคน เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม และโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในปี 2565

จากรายงานพบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. ปัตตานี
  2. นราธิวาส
  3. แม่ฮ่องสอน
  4. พัทลุง
  5. สตูล
  6. หนองบัวลำภู
  7. ตาก
  8. ประจวบคีรีขันธ์
  9. ยะลา
  10. ตรัง 

โดยปัตตานีและแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัดดังกล่าว นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2566 จะพบว่า 5 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก และยะลา มักติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีสัดส่วน คนจนสูงสุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรัง


เปิด 10 จังหวัด คนจนเยอะสุดในไทย ตกใจ 2 จังหวัด ครองแชมป์ 5 อันดับแรก ยาวนาน 15 ปี

ทั้งนี้หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนกับสัดส่วนคนจนรายจังหวัด ตามแผนภาพด้านล่าง พบว่า ส่วนใหญ่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงมักจะมีสัดส่วนคนจนต่ำขณะที่ จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำจะมีสัดส่วนคนจนสูง ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนของประเทศ 

 

อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลการศึกษาองค์ประกอบความยากจนที่อธิบายการปรับตัวลดลงของความยากจนว่า เป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจนแต่ในระยะหลังกลับมีผลต่อการลดลงของความยากจนเพียงส่วนน้อย เพราะปัจจัยทางด้านการกระจายรายได้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดี ทำให้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงแทน

 

อย่างไรก็ตาม มีบางจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงแต่กลับมีสัดส่วนคนจนสูงเช่นกัน เช่น นครศรีธรรมราช อ่างทอง ลำปาง เช่นเดียวกับในบางพื้นที่ที่มีจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำและมีสัดส่วนคนจนต่ำ เช่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ทำให้ในอีกมุมหนึ่ง จึงอาจไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าการมีรายได้สูงขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหายากจนได้เสมอไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่