เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 ทางด้าน "พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์" พระนักเทศน์-นักเขียน วัดชนะสงคราม วรมหาวิหาร เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊กถึง "อาจารเบียร์ คนตื่นธรรม" ระบุว่า... บทความเขียนตอนที่ ๑ ต้นไม้มีพิษก็ออกผลผิดลูกหลานเป็นพิษพูดผิดประพฤติผิดตามกันมา พุทธวจนะเริ่มต้นจากพุทธทาส - คึกฤทธิ์ - เบียร์ คนเพิ่งตื่นธรรม
ก่อนที่จะเข้าสู่รายละเอียดของการแก้ปัญหาหนังสือพุทธจนให้ถูกต้นตอตามหลักของอริยสัจสี่ ทุกขสัจ : ชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกขโทมนัส อุปายาส แก้ที่สมุทัยเหตุเกิดทุกข์ : กามตัญหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงจะบรรลุถึงนิโรธสัจดับสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงตัดรากถอนโคน (สมุจเฉทประหาณ) ข้าพเจ้าขอกล่าว
แก้สติปัญญาของเบียร์ (ทราบชื่อจริงว่า “ณัฐพงษ์”) คนตื่นธรรมที่เรียกร้องให้ข้าพเจ้าโทรติดต่อไปถึงเขาเพื่อพูดคุยตักเตือนหลังไมค์ ไม่ใช่มาพูดออกสื่อเป็นสาธารณะแบบนี้ และยังตำหนิฟาดกลับข้าพเจ้าว่า “ถือเป็นการนินทา ไม่มีมารยาท ไม่ได้ประโยชน์”
เบียร์ เจ้าเด็กเมื่อวานซืนเพิ่งตื่นธรรม มีชื่อดังไม่นานมานี้เอง เธอทำตนเป็นบุคคลสาธารณะมิใช่หรือ โดยไลฟ์สดให้คนทั่วทั้งโลกได้รับชมและรับฟังการพูดของเธอ
เมื่อเธอทำตนเป็นบุคคลสาธารณะพูดออกไปไลฟ์สดเป็นสาธารณะอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนทั่วไปจะพูดวิพากษ์วิจารณ์เธอแบบสาธารณะ ไม่มีใครไปขออนุญาตเธอก่อนที่จะพูดวิพากษ์วิจารณ์เธอหรอก ไม่มีใครที่จะไปพูดกับเธอตักเตือนหรือตำหนิติเตียนหลังไมค์หรอก เบียร์ เจ้าเด็กเมื่อวานซืน เพิ่งตื่นธรรม เข้าใจตรงกันนะ
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า “อาจารย์” เป็นสรรพนามที่เธอออกสื่อสาธารณะแม้กับคนที่อายุมากกว่าเธอ เธอไม่ได้เป็นอาจารย์ของเขา และเขาก็ยังเรียกเธอว่า “น้องเบียร์ๆ” เสียด้วยซ้ำ แต่เธอกลับเรียกตนเองว่า “อาจารย์ๆ” ได้โดยตลอด ประหนึ่งสถาปนายกตนขึ้นมาเป็นอาจารย์เสียเอง ไม่รู้สึกมีหิริความละอายกระดากปากบ้างเลยหรือ คำว่า “อาจารย์” ควรเป็นคำที่คนยอมรับในตัวเธอเรียก
“สกฺกา มหาราช เตนหิ มหาราช ตญฺเญเวตฺถ ปฏิปุจฺฉิสฺสามิ ยถา เต ขเมยฺย ตถา ตํ พฺยากเรยฺยาสิ”
“พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘อาจอยู่ มหาบพิตร แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน’”
องค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ๆ เมื่อจะตรัสตอบกับพระเจ้าอาชาตศัตรู ยังทรงใช้พระสรรพนามว่า “อหํ” แปลว่า “อาตมภาพ” มิได้ใช้พระสรรพนามว่า “เราอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” อย่างมากก็ใช้เนมิตกนามว่า “เราตถาคต” แต่ก็ไม่มีนัยยะของอัตตามานะทิฏฐิยกพระองค์ขึ้นข่มคนอื่นแต่อย่างไร
เบียร์ ถ้าเธอไลฟ์สดเฉพาะกลุ่มของเธอลูกศิษย์ลูกหาของเธอ ข้อนั้นไม่เป็นไร เธอใช้สรรพนามแทนตนเองว่า “อาจารย์ๆ” หรือ “กูๆ” “มึงๆ” ได้ตามสบายเลย
ช่างไม่รู้มารยาทการแสดงออกทางสื่อสังคมสาธารณะเอาเสียเลย นี้หรือคนตื่นธรรม
มิหนำซ้ำเธอยังกล่าวหาคนที่เห็นต่างไปจากเธอโต้แย้งเถียงกับเธอว่าก็เท่ากับเถียงพระพุทธเจ้า (โอหังบังอาจนัก อ้างพระพุทธเจ้ามาบังหน้าเพื่อเอาตัวรอดไปดื้อๆ) อิจฉาริษยาเธอ
คนกลุ่มหนึ่งก็เอาคลิปของฉันตัดสั้นๆ ไม่ครบความพูดทั้งหมดไปโพสต์ใน TikTok พร้อมกับเขียนตำหนิฉันว่า “พระอิจฉาฆราวาสผู้สอนธรรม” คนพวกนั้นช่างปัญญาตาต่ำเหลือเกิน เธอมีอะไรให้ฉันต้องอิจฉาริษยาหรือ เบียร์
ฉันเกิดวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๓ อายุย่างเข้า ๕๕ ปี สามเณร ๑๐ ปี พระ ๒๓ พรรษา รวมที่อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์พระพุทธศาสนานี้ ๓๓ ปี พรรษาของฉันมากกว่าท่านคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล อาจารย์ตัวพ่อของเธอเสียอีก
แต่ก็ขออนุโมทนาขอบใจเธอสักเล็กน้อยนะ เบียร์ ที่ยังรู้จักยกมือไหว้พระ นมัสการ ขอบพระคุณ เรียกฉันว่า “พระอาจารย์” อยู่ (ตีหัวแล้วลูบหลัง)
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระมหาภาคภูมิ ศีลานันโท แอบแคปหน้าจอเอาบทความของฉันไปโพสต์ในหน้าวอลล์ของตนเอง เรียกฉันว่า “พระมหาเถระ” และครั้งที่ฉันเขียนถวายวิสัชนาแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ศาสตราจารย์ ดร. อุทิศ ศิริวรรณ ก็แชร์โพสต์ของฉันไป เรียกฉันว่า “พระมหาเถระ” เหมือนกัน เธออายุ ๓๘ ปี น้อยกว่าฉันเกือบ ๒๐ ปี ถ้าอย่างนี้ ฉันพอเป็นรุ่นน้า รุ่นพ่อของเธอได้ไหม เบียร์
รู้ตัวหรือเปล่า เบียร์ เธอได้สร้างวจีกรรมที่น่าเป็นห่วงเอาไว้มาก ตามที่เธอพูดเองนั่นแหละว่า “วันนี้กูจะด่าให้ฉ่ำ” ต่อฆราวาสและพระสงฆ์ด้วย
กล่าวเกริ่นมามากพอสมควร เอาละทีนี้เข้าสู่ประเด็นหนังสือพุทธวจน ซึ่งผลิตผลตั้งแต่ต้นมาจากหลวงพ่อพุทธทาส ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอกราบถวายความเคารพแด่พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส (อินฺทปญฺโญ) เอาไว้เป็นอย่างสูง
ท่านทั้งหลายได้อ่านบทความที่ข้าพเจ้าเขียนถึงท่านต้น พระทวีวัฒน์ ธรรมนาวา ในคราวก่อน คงจำได้ว่า “ข้าพเจ้าเขียนโต้แย้งเฉพาะเหตุผลส่วนตัวของท่านข้อแรก” ยั้งเอาไว้ไม่เขียนในข้อต่อๆ มา ด้วยเหตุแห่งธรรมเนียมปฏิบัติต่อผู้วายชนม์หรือพระภิกษุผู้มรณภาพไปแล้ว ว่า “เราไม่ควรพูดถึงตัวบุคคลในแง่เสีย ควรพูดถึงแต่ในแง่ดีๆ เท่านั้น”
แต่ในบทความครั้งนี้ข้าพเจ้าคงต้องขออนุญาตเขียนถึงตัวบุคคลอะไรบางอย่างสักหน่อย
เรามากล่าวถึงพื้นฐานการศึกษาในทางปริยัติธรรมของตัวบุคคลคือหลวงพ่อพุทธทาสก่อน การศึกษาปริยัติธรรมของหลวงพ่อพุทธทาส จบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยค มีข้อที่น่าพิจารณาให้ไถ่ถามว่า “พระภิกษุหนุ่มผู้สำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยค ไม่ถึงขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยคือเปรียญธรรม ๙ ประโยค จะมีความรู้ความสามารถเพียงพอเพื่อไปแปลอักขระพยัญชนะมาคธีภาษาบาลีในพระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐออกมาเป็นภาษาไทยได้ไหม”
ถามอีกว่า “ศึกษาค้นคว้าอ่านเอาเองจะเข้าใจได้ไหม”
ตอบว่า “พอเข้าใจได้” แต่ก็ถูกๆ ผิดๆ ถูกเอง ผิดเอง ถ้าจะเข้าใจได้ดีถูกต้องจริงๆ ต้องเข้าไปอยู่ในห้องเรียนกับอาจารย์ผู้สอนบาฬีใหญ่ พระเณรเรียนบาฬีใหญ่ใช้เวลาในการท่องสอนเรียนกันนานเท่าไหร่ หลายปีทีเดียว หลายปีมากๆ กว่าจะจบการศึกษาขั้น “ธัมมาจริยะ” (ยังมีขั้นอภิวังสะ สาสนธชะ ปารคู ต่ออีก)
หลวงพ่อใหญ่ ดร. ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ปรมาจารย์วิปัสสนา บิดาวิปัสสนาในเมืองไทย จบการศึกษาจากพม่าบาฬีใหญ่ ในอายุวัย ๒๗ ปี ซึ่งบวชท่องบาฬีใหญ่ไวยากรณ์มูลกัจจายน์เป็นสามเณรหัวเท่ากำปั้น
ถ้าใช้ความรู้บาลีสนามหลวงของหลวงพ่อพุทธทาสที่จบประโยค ป.ธ. ๓ เพียงอย่างเดียว ข้าพเจ้าขอตอบได้ทันทีว่า “หมดสิทธิ์” อย่าว่าแต่ประโยค ป.ธ. ๓ เลย แม้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค เอากุญแจประโยค ป.ธ. ๙ ไปไขตู้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีเปิดออกอ่านก็ติดหลายศัพท์ แปลไม่ออก แปลไม่ได้อยู่หลายศัพท์มาก
ความรู้ในภาษาบาลีของเปรียญธรรม ๙ ประโยค ไม่ถึงขั้นที่จะแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีออกมาเป็นภาษาไทยได้ ได้ก็ได้เพียงบางศัพท์ แต่ไม่ได้ทุกศัพท์ ความรู้ในภาษาบาลีของมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในขั้นเอาภาษาบาลีกับภาษาไทยที่ท่านราชบัณฑิยาจารย์ ๓๒ ท่าน มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานแปลเอาไว้แล้วก่อนหน้าตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระไตรปิฎกฉบับหลวง มาเทียบเคียงกัน คือ เปิดกางวางตำรา ๒ เล่มคู่กัน เล่มหนึ่งภาษาบาลี เล่มหนึ่งภาษาไทย แล้วเทียบเคียงตรวจดูคำต่อคำ
ข้าพเจ้าผู้กำหนดจดจำทุกคำทุกตัวอักษร เช่น สามัญญผลสูตร สงสัยข้อความใดในภาษาไทยทำไมแปลอย่างนี้ ก็ไปเปิดภาษาบาลีตรวจทานดู
ในพรรษาแรกๆ อายุประมาณ ๒๖-๒๗ ปี ข้าพเจ้าไปซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกผลงานเขียนของหลวงพ่อพุทธทาส ชื่อว่า “ตามรอยพระอรหันต์” เอามาอ่าน เปิดหน้ากระดาษพลิกอ่านไปเรื่อยๆ ได้ไม่ถึง ๑๐ หน้า พอไปเจอข้อความเขียนของหลวงพ่อพุทธทาสประโยคหนึ่งว่า “ตรัสรู้คือคิดเอาจนตรัสรู้” ข้าพเจ้าก็วางหนังสือเล่มนั้นทันที ไม่คิดจะอ่านอีก และทิ้งไปนานแล้ว
ข้าพเจ้าไปซื้อหนังสือเล่มต่อมาของหลวงพ่อพุทธทาส ชื่อ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (ถ้าจำไม่ผิดนะ) ....จากพระโอษฐ์ๆ มีอยู่หลายเล่ม อ่านไปถึงกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลวงพ่อพุทธทาสแปลว่า “มีรสอร่อย” ข้าพเจ้าก็วางหนังสือเล่มนั้นทันทีเช่นเดียวกัน
ข้าพเจ้ารู้อยู่แล้วว่า คำบาลี คืออะไร คือ “อสฺสาท” ความแปลในพระไตรปิฎกฉบับหลวง “รูปานํ อสฺสาทญฺจ อสฺสาทโต : ไม่รู้ชัดคุณของรูปทั้งหลายโดยเป็นคุณ” คำแปลในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหามกุฏฯ ฉบับมหาจุฬาฯ ก็อย่างนี้เหมือนกัน
แต่ข้าพเจ้าชอบคำแปลที่อยู่ในอรรถกถาภาษาไทยมากกว่า ท่านแปลคำบาลี “อสฺสาท” ว่า “น่ายินดี”
ย้อนกลับไปดูคำแปลของหลวงพ่อพุทธทาสที่ว่า “มีรสอร่อย” อีกสักหน่อย ท่านแปลออกมาอย่างนี้ไม่ตรงกับรูปศัพท์เดิมเลย นี้เรียกว่า “มโนแปลเอาเอง แปลเอาตามความชอบใจ แปลตามความเข้าใจของตน”
ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าอ่านเจอข้อความภาษาไทย ๑ ประโยค และคำแปลบาลี ๑ คำ ของหลวงพ่อพุทธทาสนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่คิดที่จะอ่านหนังสือพุทธวจนะ จากพระโอษฐ์ๆ หลายๆ เล่มของหลวงพ่อพุทธทาสอีกเลย
น่าจะเป็นข้อเสียของข้าพเจ้าเอง ถ้าข้าพเจ้าอ่านหรือฟังใครพระรูปใด ฆราวาสคนไหนก็ตาม พูดไม่ตรงกับแหล่งต้นเดิม ข้อมูลเดิมที่อยู่ในพระไตรปิฎก ชนิดที่ว่ามั่วด้นเดาเอาเอง ถูกๆ ผิดๆ แม้แต่อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะพระพุทธศาสนามหายาน พูดถึงเรื่องพราหมณ์ชูชกว่า “แกจะต้องรีบไปเชตุดรราชธานี จะได้ทรัพย์จากพระเจ้ากรุงสญชัยจำนวนมาก เพราะพระเวสสันดรตีราคาของพระโอรสพระธิดาไว้สูงสุดเลย”
อ้าว มั่วแล้ว อาจารย์เสถียร โพธินันทะ นับแต่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ฟังเสียงบรรยายของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ อีกเลย
รู้สึกว่า ข้าพเจ้าจะเขียนขยายความออกมาหลายหน้ากระดาษแล้ว ประเดี๋ยวคนอ่านจะบ่นเอา ขอยุติบทความตอนที่ ๑ ไว้เท่านี้ก่อนเรื่องที่จะเขียนตามมโนทัศน์ที่วาง concept เอาไว้ยังมีต่อจากนี้ บทความตอนที่ ๒ Coming soon