เปิดอาการ "โนโรไวรัส" กำลังระบาดในจีน ยังไม่มียารักษา เชื้อทนต่อแอลกอฮอล์

13 ธันวาคม 2567

เปิดอาการ "โนโรไวรัส" หลังพบกำลังระบาดในจีน มีแนวโน้มเพิ่มสูง ติดต่อง่าย ยังไม่มียา-วัคซีนรักษา เชื้อทนทานต่อแอลกอฮอล์

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" ในประเทศจีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 สื่อในมาเลเซีย World of Buzz รายงานว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศจีนกำลังมีการแพร่ระบาด โนโวไวรัส (Norovirus) อยู่ในขั้นวิกฤต โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อแอลกอฮอล์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ

 

เปิดอาการ โนโรไวรัส กำลังระบาดในจีน ยังไม่มียารักษา เชื้อทนต่อแอลกอฮอล์

โดยตามรายงานข่าวระบุว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนหลายคนติดเชื้อโนโรไวรัสจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในเขตจางวาน เมืองซื่อหยาน มณฑลหูเป่ย มีเด็กนักเรียนใน 3 ห้องเรียนติดเชื้อไวรัส ทำให้โรงเรียนต้องหยุดทำการเรียนการสอน


นอกจากนี้ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในมณฑลส่านซี ยูนนาน และหูเป่ย ต่างก็มีรายงานการระบาดของโนโรไวรัส และที่ศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี พบเด็กติดเชื้ออย่างน้อย 48 ราย ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา 


ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของ โนโรไวรัส ได้เข้าสู่ช่วงพีค ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของจีน ต้องออกแนวทางปฏิบัติเพื่อเตือนประชาชนเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ โดยมีการแนะนำให้ผู้ติดเชื้อแยกกักตัวจากผู้อื่น อีกทั้งยังแนะนำให้ประชาชนล้างมือด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนรับประทานอาหารและหลังจากขับถ่าย รวมถึงปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน และหมั่นทำความบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหลัก พร้อมเตือนประชาชนไม่ให้ไปทำงานหากติดเชื้อไวรัส และรีบไปพบแพทย์ทันที

 

เปิดอาการ โนโรไวรัส กำลังระบาดในจีน ยังไม่มียารักษา เชื้อทนต่อแอลกอฮอล์
 

ขณะที่ Chinadaily ได้เผยข้อมูลอ้างอิงจาก "เผิง จื้อปิน" นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน (CDC) ที่ได้อธิบายว่า โนโรไวรัส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการอักเสบเฉียบพลันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคนี้สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค.-มี.ค.


ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาการป่วย โนโรไวรัส ในกลุ่มเด็กจะพบอาการอาเจียนเป็นหลัก ขณะที่ในผู้ใหญ่มักมีอาการท้องเสีย อาการอื่นๆที่พบได้ทั่วไปคือ คลื่นไส้ ปวดท้อง ไข้ และปวดกล้ามเนื้อ แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากการติดเชื้อในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน แต่ในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะขาดน้ำ อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ


ซึ่งวิธีป้องกันโรคที่สำคัญที่สุดคือ การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำไหลก่อนการเตรียมอาหารหรือรับประทานอาหาร รวมถึงหลังการใช้ห้องน้ำ ผู้ที่ติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นในระหว่างที่ยังมีอาการ และอย่างน้อย 2-3 วันหลังจากอาการหายไป เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น