เปิดวิธีป้องกัน "โนโรไวรัส" หลังระบาดในไทย ป่วยรวม 1,436 ราย

18 ธันวาคม 2567

วิธีป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" (Norovirus) หลังระบาดในไทยแล้ว ผู้ป่วยรวม 1,436 ราย พบเป็นเด็กมากที่สุด

ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อ "โนโรไวรัส" (Norovirus) โดย นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมาเผยถึงการระบาดของ "โนโรไวรัส" ที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ของนักเรียน ครู และบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยพบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ "น้ำและน้ำแข็ง" ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี 

 

วิธีป้องกันเชื้อ โนโรไวรัส หลังระบาดในไทย พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย

โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล โดยโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังการรับเชื้อ เชื้อโนโรไวรัสมักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว ไวรัสชนิดนี้มีความแข็งแกร่ง สามารถทนทานต่อความร้อน และยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี โดยเฉพาะเจลแอลกอฮอล์

 

ลักษณะและการแพร่ระบาดเชื้อโนโรไวรัส 


โนโรไวรัสเป็นไวรัสขนาดเล็กที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ทำให้สามารถอยู่รอดในสภาพอากาศที่หลากหลายและแพร่กระจายได้ง่ายการติดเชื้อมักเกิดจาก

  • การรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น อาหารดิบ อาหารทะเล หรือผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างไม่สะอาด น้ำแข็งที่มีเชื้อปนเปื้อน
  • การสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อน เช่น ที่จับประตู โต๊ะ หรือเครื่องใช้ต่างๆ 
  • การสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น การใช้ภาชนะร่วมกัน การดูแลผู้ป่วย หรือหายใจเอาละอองของเชื้อเข้าไปในร่างกาย


อาการโนโรไวรัส 

  • อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  •  
  • อาการรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่
     

วิธีป้องกันเชื้อ โนโรไวรัส หลังระบาดในไทย พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย

วิธีการรักษา


ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโนโรไวรัสได้โดยตรง เป็นการรักษาตามอาการ การรักษาจะเน้นที่การบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนให้ยาแก้อาเจียน หากขาดน้ำจะให้น้ำเกลือแร่หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ การให้ยาปฏิชีวนะจะไม่มีประโยชน์ในการรักษาการติดเชื้อ norovirus สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

วิธีป้องกันเชื้อ "โนโรไวรัส" 

  • ล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสกับผู้ป่วย
  • รับประทานอาหารที่สุกสะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล และล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนบริโภค
  • กินร้อน ใช้ช้อนกลาง
  • ทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่สัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน


หน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน

  • การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้
  • การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
  • จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ
  • การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค

 

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท