"ทำไมแอลกอฮอล์ฆ่าโนโรไวรัสไม่ได้" หมอฆนัท ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเพจ คุยกับหมอฆนัท ระบุเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า
“ไวรัส” ที่แอลกอฮอล์ฆ่าไม่ตาย
สวัสดีวันหยุดสบาย ๆ ใกล้ ๆ ช่วงสิ้นปี อากาศเย็น ๆ แบบนี้ครับ หมอได้อ่านข่าวโรคภัยในช่วงนี้ ก็ได้เห็นความกังวลของหลาย ๆ คน ที่เกิดขึ้นหลังจากที่กรมควบคุมโรคได้แถลงข่าวถึงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
ซึ่งเป็นโรคทั่วไปเกิดได้จากการรับเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย แต่จะพบมากในเด็ก เพราะเด็กมักจะระวังตัวน้อย การดูแลความสะอาด การล้างมืออาจจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ ไปจนถึงพบมากในช่วงที่มีเทศกาล เนื่องจากการพบปะสังสรรค์กัน การรับประทานอาหารร่วมกัน การทานอาหารที่ค้างคืน หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
อาการโดยทั่วไป พบได้บ่อย ๆ คือ การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ส่วนใหญ่โรคอุจจาระร่วงมักจะหายเองภายใน 2-3 วัน
แต่ที่สร้างความแตกตื่นในตอนนี้ คือ การตรวจพบเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ แท้ที่จริงแล้ว กลับเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในไทยเหมือนกับเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่เราคุ้นหูกันมานาน เพียงแต่ไทยได้ป้องกันการเกิดโรต้าด้วยการให้วัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ทำให้มีผู้ป่วยลดลง แต่ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อโนโรไวรัสได้ ทำให้เจอผู้ป่วยมากขึ้นมาแทน
และอีกความตกใจคือ “แอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้” คำตอบของคำถามนี้คือ “จริงครั้บ” แต่ต้องอธิบายกันเพิ่มว่า “แอลกอฮอล” ที่เราใช้ ๆ กันอยู่นี้ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ได้ และ ฆ่าเชื้อไวรัสบางชนิดได้ เช่น เชื้อ HIV เชื้อเริม เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนไวรัสในกลุ่มที่ติดต่อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ และโรคที่เกิดจากติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Diseases) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อไวรัสอย่างเฉียบพลัน
เอนเทอโรไวรัส เป็นไวรัส RNA สายเดี่ยว ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 นาโนมิเตอร์ เป็นไวรัสเปลือย (Non-enveloped virus) ทำให้ทนทานต่อสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ ได้
ฉะนั้น เมื่อรู้ที่มาที่ไปแล้ว ก็อย่าตกใจไปครับ เพียงแต่มาเปลี่ยนวิธีการป้องกันโรคใหม่ ด้วยน้ำสบู่ ที่ต้องถูอย่างน้อย 20 วินาทีขึ้นไป หรือถูมือตามหลักการล้างมือที่ถูกต้อง