ทำความรู้จัก "อหิวาตกโรค" โรคระบาดที่ยังอันตราย กำลังระบาดหนักในเมียนมา

22 ธันวาคม 2567

ทำความรู้จัก "อหิวาตกโรค" โรคระบาดที่ยังอันตราย กำลังระบาดหนักในเมียนมา ล่าสุด ทางแม่สอดพบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย

มีรายงานการระบาดของ "อหิวาตกโรค" ที่เมืองฉ่วยโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา มีผู้ป่วยรวม 300 ราย เสียชีวิต 3 ราย ทางด้านฝั่งไทยได้มีการคุมเข้ม สั่งปิดชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อสกัดไม่ให้เข้าประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าแม่สอดพบแล้ว ผู้ป่วยอหิวาตกโรค 2 ราย เผยญาติฝั่งประเทศเมียนมาเดินทางมาเยี่ยมภรรยาคลอดลูกใหม่ ซื้ออาหารมากินด้วยกัน

ทำความรู้จัก อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย กำลังระบาดหนักในเมียนมา

รู้จัก "อหิวาตกโรค"

"อหิวาตกโรค" หรือที่นิยมเรียกกันในสมัยก่อนว่า "โรคห่า" เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในอดีตเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดตำนานแร้งวัดสระเกศ

อหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae มีแมลงวันเป็นพาหะ ซึ่งเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ แต่ว่าปัจจุบันการแพทการรักษาที่ย์มีความเจริญก้าวหน้าแล้วนั้น แต่ยังคงพบว่าในบางพื้นที่ของโลก ที่การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยยังไม่เพียงพอ โรคนี้ยังไม่ได้หายไปไหน

อาการ "อหิวาตกโรค"

เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง (อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ พบได้บ่อยในเด็ก ในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง และอัตราป่วยตายสูงมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันท่วงที อัตราป่วยตายจะลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1

วิธีติดต่อ "อหิวาตกโรค"

ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารดิบๆสุกๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก

ระยะฟักตัว

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ

ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็น ระยะได้

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

  • ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ / น้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส บ่อยครั้ง ให้จำนวนทดแทนกับที่เสียไป
  • หากมีอาการมากขึ้น เช่น ถ่ายเหลวบ่อยครั้งมากขึ้น มีมูกเลือด อาเจียน ไข้สูง ชัก หรือซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์
  • งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อนหรือของหมักดอง

ทำความรู้จัก อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย กำลังระบาดหนักในเมียนมา

การรักษา "อหิวาตกโรค"

ผู้ป่วยอหิวาตกโรคควรได้รับการรักษาทันที เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงจากการเกิดภาวะขาดน้ำอย่างกะทันหัน วิธีรักษาอหิวาตกโรคมีรายละเอียดดังนี้

  • ให้ผู้ป่วยจิบผงละลายเกลือแร่ (Oral Dehydration Salt: ORS) ที่ผสมในน้ำต้มสุก เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ในเลือดที่ร่างกายสูญเสียไป
  • ให้สารน้ำทดแทน (Intravenouse Fluids) ทางน้ำเกลือในกรณีที่เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่มาก เพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำเฉียบพลัน
  • ให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาอะซีโธรมัยซิน (Azithromycin)
  • ให้แร่ธาตุสังกะสีเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง ซึ่งมักใช้รักษาอาการท้องร่วงในเด็ก

การป้องกันโรคอหิวาตกโรค

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
  • การรับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรคเท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันคือ ควรเน้นการปรับปรุงสุขาภิบาล มีสุขอนามัยที่ดี

 

ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมโรค , pobpadbangkokhealth