ไฟเขียว ลดภาษีเงินได้ 17% จูงใจคนไทยคืนถิ่น นายจ้างได้เฮ

26 ธันวาคม 2567

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ครม. ไฟเขียวมาตรการภาษี หนุนคนไทยหัวกะทิ กลับเข้าทำงานในประเทศ พร้อมลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตรา 17% ด้านนายจ้างหักรายจ่ายเงินเดือนได้ 1.5 เท่า

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สืบเนื่องจาก ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานอยู่ต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อเป็นการดึงดูดคนที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวชาญในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ 

 

ไฟเขียว ลดภาษีเงินได้ 17% จูงใจคนไทยคืนถิ่น นายจ้างได้เฮ

ไฟเขียว ลดภาษีเงินได้ 17% จูงใจคนไทยคืนถิ่น นายจ้างได้เฮ รวมทั้งตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

 

กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง)

1.ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตรา 17% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50

(1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียน้อยกว่า 17% ของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% ของเงินได้นั้น

2.ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% ของเงินได้ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตคืนภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้วด้วยและมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลสำหรับเงินได้พึงประเมินดังกล่าวตามมาตรา 48 (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิได้ เมื่อไม่นำเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรนั้นไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนและไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ ในการได้รับยกเว้นเงินได้ข้างต้น ผู้มีเงินได้ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย

 

กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง)

ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายหักรายจ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า) ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

เงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ข้างต้นต้องไม่เป็นเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายอื่นหรือตามพระราชกฤษฎีกาอื่นที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร

หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข

บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. มีสัญชาติไทย

2. วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

3. มีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 2 ปี

4. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยเพื่อทำงานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้แจ้งการจ้างลูกจ้างดังกล่าวตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อกรมสรรพากรก่อนจ่ายเงินให้ได้แก่ลูกจ้างครั้งแรกของการจ้างแรงงาน โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่กรมสรรพากรได้รับแจ้งจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

5. ไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ และไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี

6. ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิ จะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

7. มีคุณสมบัติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามอธิบดีประกาศกำหนด

 

ระยะเวลาดำเนินการ

วันที่มาตรการมีผลใช้บังคับ : วันถัดจากวันที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วันที่เริ่มต้นและวันที่สิ้นสุดในการเดินทางกลับเข้าประเทศของผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

ระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมมาตรการ : ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572