สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รับการร้องเรียนจากญาติผู้ป่วยฉุกเฉินรายหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 โทรแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่าน 1669 ซึ่งมีการประเมินอาการ ว่าเป็นเคสที่ต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูงเข้าไปดูแล แต่กลับมีอาสาสมัครแห่งหนึ่ง ใส่ชุดสีแดง เข้าไปประเมินอาการ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล
ในขณะที่ญาติแจ้งว่าผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยได้แจ้งความประสงค์ขอให้ส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อใช้สิทธิรักษาตามโครงการ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ แต่อาสาสมัครดังกล่าวกลับนำตัวผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลย่านทองหล่อ
ก่อนที่โรงพยาบาลย่านทองหล่อจะแจ้งว่าผู้ป่วยมีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เกินขีดความสามารถในการรักษา จึงต้องส่งตัวมาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ และเข้ารับการผ่าตัดทันที เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใช้เวลาในการส่งตัวผู้ป่วยประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการรักษาโรคหัวใจอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะกรณีของโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่ต้องการรักษาโดยเร็วที่สุด
เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงสั่งให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน และขั้นตอนการนำส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน
เนื่องจาก สพฉ. ไม่สามารถปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ และเน้นย้ำการปฏิบัติงานชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้บุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติการและไม่ได้รับการสั่งการจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและความปลอดภัยของทั้งผู้ปฏิบัติการและผู้ป่วยฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ