สพฉ. ยัน มูลนิธิเพชรเกษม ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไร้สิทธิปฏิบัติการฉุกเฉิน

08 มกราคม 2568

สพฉ. ตั้งทีมสอบสวน “มูลนิธิเพชรเกษม” ออกปฐมพยาบาล-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต ยืนยัน ไม่มีการขึ้นทะเบียนปฎิบัติหน้าที่ในเขต กทม. ไม่มีสิทธิปฏิบัติการฉุกเฉินตามกฎหมาย

 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2567 มีญาติผู้ป่วยฉุกเฉินรายหนึ่งร้องเรียนของว่า โทรแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผ่าน 1669 ซึ่งมีการประเมินอาการ ว่าเป็นเคสที่ต้องใช้รถพยาบาลขั้นสูงเข้าไปดูแล แต่กลับมีอาสามูลนิธิเพชรเกษม เข้าไปประเมินอาการ และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล ที่ห่างออกไป จนทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล่าช้า  

สพฉ. ยัน มูลนิธิเพชรเกษม ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไร้สิทธิปฏิบัติการฉุกเฉิน

 

และกรณีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่าอาสาของ “มูลนิธิเพชรเกษมเชียงใหม่” ใช้รถลักษณะคล้ายรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีการเปิดไฟวับวาบแสงน้ำเงินและแดงเข้าไปรับร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งไฟสัญญาณดังกล่าวจะต้องเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองจาก สพฉ. เท่านั้น

นอกจากนี้ สพฉ.ขยายผลไปยังพฤติกรรมอื่น และพบว่า มูลนิธิเพชรเกษม มีพฤติการณ์เข้าไปปฏิบัติการฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ  แทนผู้ปฏิบัติการซึ่งได้รับการสั่งการจากหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานซ้ำซ้อนกับหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในพื้นที่ที่ทำหน้าที่ เป็นมูลเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท 

เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. แถลงหลังส่งทีมสอบสวนลงเก็บข้อมูลพยานหลักฐานจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง อาสา มูลนิธิ  ญาติผู้ป่วย และศูนย์เอราวัณ รวมทั้งสายด่วน 1669  จนทราบว่า กรณีที่เกิดขึ้น เป็นการออกปฏิบัติการช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

สพฉ. ยัน มูลนิธิเพชรเกษม ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไร้สิทธิปฏิบัติการฉุกเฉิน


จากการตรวจสอบมูลนิธิเพชรเกษม  มีการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิถูกต้องในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดปทุมธานี แต่การออกให้บริการในพื้นที่ กทม. และเชียงใหม่  ยังไม่พบการได้รับอนุมัติและขึ้นทะเบียน  จึงไม่สามารถออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือด้านการแพทย์ในพื้นที่ได้  การปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจึงไม่ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน และสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

ในการตรวจสอบข้อมูลการออกให้บริการของมูลนิธิเพชรเกษมครั้งนี้ ยอมรับว่าในระบบสายด่วน การโทรแจ้งขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ 1669 มีข้อมูลรั่วไหล ทำให้มูลนิธิ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือข่ายพื้นที่ กทม. ได้รับข้อมูลของผู้ป่วยและออกให้บริการ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบรายละเอียด


เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวในระยะยาว สพฉ. ได้พัฒนาระบบ IDEMS  สำหรับการรับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะเปิดใช้ในเดือนมีนาคม 2568 นี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยรถมูลนิธิที่ออกให้บริการได้ตลอดเวลา

 

แต่ในระหว่างนี้หากผู้ป่วยต้องการรับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งประสาน 1669 ได้ และสามารถตรวจสอบข้อมูลของอาสาหรือมูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือ ผ่านสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่า ทีมอาสาสมัครเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สพฉ. แล้ว

 

กระบวนการจากนี้ เมื่อสอบสวนเสร็จ จะนำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการสอบสวนและพิจารณาโทษปรับทางปกครอง ช่วงปลายเดือนมกราคม 2568 จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุม กพฉ. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อมูลนิธิหรือองค์กรที่ทำไม่ถูกกฎหมาย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ดังนั้น เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะเห็นการลงโทษทางปกครองที่มีความชัดเจนขึ้น  

สพฉ. ยัน มูลนิธิเพชรเกษม ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไร้สิทธิปฏิบัติการฉุกเฉิน

เลขาธิการ สพฉ. มองว่าการลงโทษไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว การใช้ช่องทางทางรัฐศาสตร์ในการหารือก็เป็นอีกแนวทางที่ สพฉ. กำลังเจรจากับผู้บริหารเพชรเกษม เราอยากให้ทุกฝ่ายไปด้วยกันได้ แต่ต้องเข้ามาอย่างถูกที่ถูกเวลา ปัจจุบันประเทศไทยมี 7 พันกว่าตำบล มีเพียง 3500 ตำบลที่มีหน่วยรับผิดชอบ ที่ว่างอีกครึ่งหนึ่งยังรอการเติมเต็ม บนพื้นฐานของความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ