อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อผู้หญิงตั้งครรภ์
ฝุ่นเรามองไม่เห็น อาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในครรภ์ได้ คุณแม่ควรระวังอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาส่งผลต่อร่างกาย
รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ แพทย์ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า PM 2.5 คือ ฝุ่นละเอียด หรือ fine particulate matter ขนาด 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งตรวจพบปริมาณเกินขีดอันตรายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเข้าไปในถุงลมปอด ก่อให้เกิดอาการได้ นอกจากนี้ยังผ่านไปสู่อวัยวะอื่นในร่างกาย และอุดตันตามผนังเส้นเลือดได้ การได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจนำมาซึ่งโรคร้ายแรงต่างๆ
รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อหญิงตั้งครรภ์
รศ.นพ.สมชาย ระบุว่า หากมารดาได้รับฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนี้
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อมารดา
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษในแม่ตั้งครรภ์
- เสี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนด
- อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการหอบหืดในแม่ตั้งครรภ์
อันตรายจากฝุ่น PM 2.5 ต่อทารกในครรภ์
- ทารกตายคลอด ทารกตายเฉียบพลัน (sudden infantdeatth syndrome : SIDs)
- น้ำหนักตัวน้อย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดทารกที่มีน้ำหนักน้อยลง
- ภาวะหอบหืด
- มีอัตราทารกที่เป็นออทิสติกสูงขึ้น
- พบการเกิดความพิการของทารกในสัตว์ทดลอง
สตรีตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันไว้เสมอหากจำเป็นต้องออกไปสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิธีหลีกเลี่ยง PM 2.5
ระดับอากาศภายนอกตามเกณฑ์มาตรฐาน คือ ระดับ AQ! ไม่เกิน 50 หรือ PM 2.5 ไม่เกิน 37 มคก./ลบ.ม. หากเกินกว่านี้ ควรปฏิบัติดังนี้
- ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยระวังอย่าให้ห้องร้อนเกินไป
- ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร
- ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียก เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
- หากภายในอาคารมีมลพิษสูง ควรใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกำจัด PM 2.5 ได้