บุกทลายโกดังพบ "กาแฟจีน" 1ล้านซอง แอบสวม อย.ไทย ขายทางออนไลน์
บุกทลายโกดังย่านสมุทรปราการ พบ "กาแฟจีน" 1ล้านซอง แอบสวม อย.ไทย ขายทางออนไลน์ บรรจุหีบห่อในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันตรวจค้น โกดังสินค้าในพื้นที่ ต.บางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พบกาแฟจีน สวม อย. กว่า 1 ล้านซอง เตรียมส่งขายออนไลน์ เป็นกาแฟ 3 in 1
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้นได้ทำการสืบสวนโดยทราบว่า โกดังสินค้าดังกล่าว มีการนำเข้าสินค้าที่น่าเชื่อว่ามีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ มาจำหน่ายให้กับประชาชน และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้ทำการขอหมายค้นศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 45/2568 ลงวันที่ 22 มกราคม 2568 เพื่อเข้าตรวจค้นและตรวจสินค้าโดยละเอียด เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจชุดตรวจค้นเข้าตรวจค้น พบ MR.Zhang (สัญชาติจีน) อายุ 45 ปี แสดงตัวเป็นผู้นำตรวจค้นและเป็นพนักงานผู้ดูแลสถานที่ พร้อมแจ้งว่ามีนายทุนชาวจีนเป็นเจ้าของสินค้าและกิจการดังกล่าว
ผลการตรวจค้น พบสินค้ามีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศจริง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารประเภทกาแฟ 3 in1 ของกลางจำนวนกว่า 1,000,000 ซอง ขณะตรวจค้นพบพนักงานจำนวนหนึ่งได้นั่งบรรจุหีบห่อในบริเวณสถานที่ดังกล่าวอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากเป็นสินค้าบริโภค และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีการสวม เลข อย. และได้นำมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ TIKTOK
เบื้องต้นทางเจ้าของสินค้ายังไม่สามารถมาแสดงเอกสารการนำเข้าและการชำระภาษีศุลกากรแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และได้รับแจ้งว่าเจ้าของสินค้าเดินทางไปประเทศจีน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำบันทึกตรวจค้นและยึดสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อทำการตรวจสอบและขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
ของกลางที่พบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่สวม เลข อย. ได้แก่
- กาแฟยี่ห้อ Phoenix Roastz ขนาด 2 กรัม จำนวน 1,000,000 ซอง
- วิตามินซียี่ห้อ Phoenix Roastz ขนาด 10 มิลลิลิตร จำนวน 130,000 ซอง
- ผงเม็ดเจียไฟเบอร์ยี่ห้อ Phoenix Roastz ขนาด 2 กรัม จำนวน 85,000 ซอง
- กาแฟลาเต้ Phoenix Roastz ขนาด 2 กรัม จำนวน 8,000 ซอง
มีความผิดฐานดังนี้
“ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร” อันเป็นความผิดตามาตรา 246 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560
ส่วนในความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการจำหน่ายอาหารปลอมมีโทษจำคุก 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท
หากพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. ได้เรียกผู้เสียหายมาให้ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว หากพบการกระทำผิดอื่นจะได้ทำการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อไป
นางสาวศศิวีณ์ นรากร รองผู้อำนวยการกองอาหาร กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ที่สามารถจับกุมกระทำผิดกฎหมายได้ในครั้งนี้
ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่กำกับดูแล การผลิต นำเข้า จำหน่าย อาหาร ให้เป็นไปตามกฎหมาย ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของการขออนุญาต มาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัย
ซึ่งในการจับกุมในครั้งนี้พบของกลางที่มีการแสดงฉลากด้วยเลขสารบบอาหารเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเลขสารบบอาหารเป็นเลขที่อนุญาตให้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์แต่ละรายการโดยที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเลขสารบบอาหารดังกล่าวได้จากฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการนี้จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากมีการแสดงเลขสารบบอาหาร แสดงส่วนผสมอาหารเป็นภาษาไทย และแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เป็นต้น
ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว
พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รรท.ผบก.ปอศ.กล่าวว่า ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) โดย บก.ปอศ. ได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุก ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดที่ได้ลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษีจากต่างประเทศ และเป็นห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ให้ตระหนักและบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัย ถูกต้องตรงตามเกณฑ์การผลิต หรือการนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา