เจ้าสัวธนินท์ หนุน ท่องเที่ยว-เกษตร-พลังงานสะอาด ดันไทยสู่อนาคตที่มั่นคง
"ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานอาวุโสเครือซีพี หนุน 3 ฉากทัศน์การท่องเที่ยว–การเกษตร-พลังงานสะอาดดันไทยสู่อนาคตที่มั่นคง
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตไร้ขีดจำกัด "Future Thailand: Next Growth" ในงานChula Thailand Presidents Summit 2025 ถือเป็นคร้้งแรกของการรวมตัวสุดยอดผู้นำระดับประเทศมาแชร์มุมมองเพื่ออนาคตประเทศไทย
โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ พร้อมทั้งผู้บริหารจากภาครัฐ และภาคธุรกิจชั้นนำอาทิ ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. นายสารัชถ์ รัตนาวดี CEO กัลฟ์และประธานบริหาร AIS รวมไปถึงคณาจารย์ศิษย์เก่าและนิสิตจุฬาฯ เข้าร่วมฟังวิสัยทัศน์กันอย่างคับคั่ง
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาฯ ได้เสนอวิสัยทัศน์ "Future Thailand: The Comprehensive View" โดยระบุว่า การกำหนดทิศทางอนาตของประเทศไทยต้องมองใน 10 เรื่องสำคัญคือ
1.ประเทศไทยควรจะต้องวางจุดยืนทางการเมืองของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ให้สมดุลโดยเฉพาะในยุคทรัมป์ 2.0 การกำหนดจุดยืนอนาคตของไทยในปีนี้จึงยิ่งสำคัญและต้องผนึกกำลังสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนและควรจะต้องตั้ง "ผู้แทนพิเศษ" ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลายส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนไปเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศเพื่อเปิดประตูให้กับไทยในการขยายโอกาสเพราะในตอนนี้การเจรจาเป็นการต่อรองแบบข้ามภาครวมไปถึงการจับมือกับอาเซียนเพื่อหนุนการลงทุนการค้าและต้องมองมิติความมั่นคงร่วมด้วย
2. การเตรียมความพร้อมในการรับการปั่นป่วนของเทคโนโลยีAI การเปลี่ยนแปลงของประชากรการเกิดโรคระบาดใหม่และปัญหาสิ่งแวดล้อม
3.การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการสร้างการเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยมองว่า "การปรับตัว" รับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ประเด็นที่ 4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของไทยซึ่งทางจุฬาฯสามารถที่จะจับมือกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว
5.ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ
6.ความมั่นคงทางด้านพลังงาน
7. ปฏิรูปการศึกษาคงไม่พอแต่ต้องยกเครื่องทางการศึกษาบัณฑิตต้องคิดเชิงวิเคราะห์ได้สถาบันการศึกษาต้องสร้างคนให้มีประสบการณ์
8.ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย
9. ต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อตอบสนองกับความปั่นป่วนของโลก
10.ไทยต้องออกจากกับกัดรายได้ปานกลางด้วยนวัตกรรมผ่านความรู้และการสร้างR&D โดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณส่งเสริม
นายกสภาฯกล่าวสรุปปิดท้ายว่า "อนาคตของประเทศต้องเป็นอนาคตที่ไทยมีความพร้อมดั่งที่ท่านประธานอาวุโสธนินท์เจียรวนนท์ได้เคยกล่าวไว้ว่า'ยุคนี้เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า' สิ่งสำคัญเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวสู่อนาคตอย่างเข้มแข็งคือผู้นำทั้งภาครัฐและภาคเอกชนภาคการศึกษาและภาคประชาสังคมจะต้องรวมพลังเป็นหนึ่งเพื่อประเทศไทย"
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ "Future Thailand: Future Education" โดยมองว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยของจุฬาฯไม่เพียงแต่ให้การศึกษาแต่คือ "การสร้างคน" ต้องสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ให้ดีกว่าเดิมคือต้องเป็นคนพันธุ์ใหม่ ที่มีอนาคตรอบด้านการจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการผนึกกำลังกันของทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคการศึกษาที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิม
ผ่านรูปแบบการศึกษาที่จะต้องสร้างความเข้าใจบทบาทของมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปไม่ใช่การให้ปริญญาเท่านั้นแต่ต้องสร้างคนให้เกิดการคิดวิเคราะห์เป็นมีทักษะแห่งอนาคตที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงแค่ให้ความรู้แต่ต้องทำให้ประเทศดีขึ้นด้วย ด้วยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศผ่านการปรับหลักสูตร ให้รองรับคนทุกวัยมีการบูรณาการศึกษาความรู้ จะต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องปรับบทบาทของผู้เรียนเป็น "Global Citizen & Global Leader" ซึ่งจะทำให้สร้างการเข้มแข็งบนเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ""Future Thailand: Next Growth" โดยยืนยันว่าประเทศไทยเศรษฐกิจมีอนาคตที่แจ่มใสแม้ว่าเราจะอยู่ในโลกที่ปั่นป่วนแต่เชื่อมั่นว่า "ในทุกวิกฤตมีโอกาส" โดยเฉพาะการผลักดันการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่จะนำเงินเข้าประเทศได้เร็วที่สุด สิ่งที่ฝากรัฐบาลคือต้องมีงบประมาณที่มาสนับสนุน และมีเป้าหมายให้ชัด ขณะเดียวกันมองว่าโลกปั่นป่วนทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการเข้าสู่ยุคเอไอธุรกิจด้านพลังงานสะอาด และพลังงานนิวเคลียร์ จึงเป็นสิ่งสำคัญประเทศไทยยังขาดไฟฟ้าที่สะอาด และราคาถูกจึงควรต้องผลักดันเรื่องนี้ด้วย
ประธานอาวุโส มองว่าประเทศไทยยังได้เปรียบเรื่องของ "การเกษตร" ควรมีงบประมาณมาจัดสรรที่ดินสร้างถนนเข้าไร่นาพร้อมเน้นย้ำว่าจะต้อง "สร้างระบบชลประทาน" มีการจัดการเรื่องน้ำที่เป็นระบบและทั่วถึงซึ่งจะทำให้รับมือกับภาวะน้ำท่วม และแล้งให้ดีขึ้นพร้อมทั้งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ดังนั้นเมืองไทยยังเต็มไปด้วยโอกาสทางด้านการเกษตร
ซึ่งควรต้องสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเช่นร่วมมือนักวิชาการจากจุฬาฯทำการศึกษาและวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี เช่นโดรนหุ่นยนต์เอไอเพราะการเกษตรจะดีได้ ต้องมีเทคโนโลยีไฮเทคที่สนับสนุนด้วย ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่จะต้องผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร เพราะ "สินค้าเกษตรคือน้ำมันบนดิน" เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย หากทำได้จะยิ่งสร้างโอกาสด้านการเกษตร ไปถึงธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง
นายธนินท์ เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่จะผลักดันอนาคตของประเทศไทยให้เติบโตคือ "การสร้างคน" เป็นเรื่องใหญ่พร้อมมองว่า "การศึกษาไม่ใช่ปริญญาแต่คือปัญญา" สถาบันการศึกษาจึงต้องพัฒนาคนให้รองรับการเปลี่ยนแปลง ยกกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันการศึกษาอันดับต้นของประเทศ ในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
อย่างไรก็ตามเมืองไทยยังผลิตคนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน จึงมองว่าควรมีการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาลงทุนและทำงานที่ไทยประมาณ 5 ล้านคน มาช่วยประเทศไทยสร้างธุรกิจใหม่ๆ และทำให้คนไทยเก่งไปด้วย ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาครัฐควรมีนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการดึงคนเก่งเข้ามาลงทุนและทำงานที่ไทย เพราะเราสร้างคนไม่ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องเรียนรู้จากคนเก่งทั่วโลก และจะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น ฉะนั้นประเทศไทยต้องเปิดกว้าง และมีนโยบายที่เอื้อหนุนในเรื่องดังกล่าว
"การทำธุรกิจให้อยู่รอดได้ ต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนต้องทำให้ลูกค้ามีรายได้มีกำลังซื้อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักธุรกิจ ในการสนับสนุนแต่ต้องมีพื้นฐานความรู้จากสถาบันการศึกษาในการสร้างคน และรัฐบาลมีหน้าออกกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาและสร้างอาชีพ"
นายธนินท์ กล่าวพร้อมระบุว่า การทำธุรกิจของเครือซีพีผู้บริหารและพนักงานทุกคนจึงยึดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะไปลงทุนที่ประเทศใดประเทศและประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด และสุดท้ายถึงจะเป็นประโยชน์ขององค์กร
ทั้งนี้ นายธนินท์ ย้ำปิดท้ายอีกว่า "ประชาชนจะร่ำรวยประเทศจะพัฒนาจำเป็นต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย โดยภาคธุรกิจเป็นผู้ส่งเสริม ภาครัฐบาลปรับกฎหมายให้เอื้อให้กับการพัฒนาประชาชน ก็จะอยู่ดีกินดี ประเทศชาติก็จะมั่นคง"