"ท้องผูกในคนสูงวัย" แก้ง่ายนิดเดียว หมอเจดเผยเอง ไม่ต้องพึ่งยา

ทำไมพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ถึงเข้าห้องน้ำนานขึ้น? หมอเจดอธิบาย 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้ ท้องผูก ระบบขับถ่ายทำงานช้าลง พร้อมแนะนำเคล็ดลับดูแลลำไส้ให้แข็งแรง
ท้องผูกเรื้อรัง เสี่ยงริดสีดวง! หมอเจดเตือน ปัญหาขับถ่ายในผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องเล็ก พร้อมเผยวิธีปรับพฤติกรรมให้ขับถ่ายง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยาระบาย
"หมอเจด" นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความล่าสุดระบุว่า
ทุกคน เคยได้ยินผู้ใหญ่บ่นกันไหมว่า “เดี๋ยวนี้เข้าห้องน้ำนานขึ้น” หรือ “ต้องเบ่งหนักกว่าเดิม” ถ้าลองสังเกตดี ๆ คนสูงวัยรอบตัวเรามักมีปัญหาเรื่องท้องผูก ขับถ่ายยากขึ้นกว่าเดิม บางคนถึงขั้นต้องพึ่งยาระบายบ่อย ๆ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นะ เพราะมันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มากับอายุ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยกันว่า ทำไมแก่แล้วขับถ่ายยากขึ้น? พร้อมวิธีแก้ที่ช่วยให้เข้าห้องน้ำได้สบายขึ้นนะ
1. กินน้อยลง ลำไส้ขี้เกียจไปด้วย
พออายุมากขึ้น หลายคนกินอาหารน้อยลง อาจเพราะเคี้ยวลำบาก ฟันไม่แข็งแรง หรือบางทีก็แค่รู้สึกไม่หิวเท่าเดิม
ปัญหาคือ… เวลากินน้อย ไฟเบอร์ก็น้อยตามไปด้วย ซึ่งไฟเบอร์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานดีขึ้น ถ้าไฟเบอร์น้อยไป อุจจาระจะแข็ง แห้ง ขยับตัวช้าลง แล้วแบบนี้จะไม่ท้องผูกได้ยังไง?
แก้ยังไงดี?
- กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ถั่ว
- ถ้าฟันไม่ดี เคี้ยวลำบาก ลองกินไฟเบอร์จากซุป สลัด หรือปั่นเป็นสมูทตี้
- เสริมโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือกิมจิ ให้ลำไส้มีจุลินทรีย์ดี ๆ คอยช่วยย่อยอาหาร หรือจะเป็นจากอาหารเสริมก็ได้นะครับ
2. ดื่มน้ำน้อยไป อุจจาระเลยแข็ง
น้ำสำคัญกับร่างกายมาก โดยเฉพาะกับระบบขับถ่าย แต่ปัญหาคือ พออายุมากขึ้น ความรู้สึกหิวน้ำก็น้อยลง หรือบางคนกังวลเรื่องปัสสาวะบ่อย เลยดื่มน้ำน้อยลงอีก
พอดื่มน้ำไม่พอลำไส้ก็จะดูดน้ำกลับจากอุจจาระไปหมด สุดท้ายอุจจาระเลยแข็งและแห้ง ขับถ่ายก็ยากขึ้นอีก
แก้ยังไงดี?
- พยายาม จิบน้ำบ่อย ๆ แม้จะไม่รู้สึกกระหาย
- ถ้าดื่มน้ำเปล่าไม่ไหว ลองเปลี่ยนเป็น น้ำอุ่น น้ำขิง หรือน้ำมะนาวอุ่น ๆ
- กินผลไม้ที่มีน้ำเยอะ ๆ เช่น แตงโม ส้ม หรือซุปผัก
3. ลำไส้เคลื่อนตัวช้าลง ทำให้ของเสียค้างนาน
ลำไส้ของเรามีการบีบตัว (peristalsis) เพื่อนำของเสียออกจากร่างกาย แต่พอแก่ขึ้น ลำไส้ก็ขี้เกียจมันบีบตัวช้าลง ของเสียเลยค้างอยู่นานขึ้น แล้วก็กลายเป็นอุจจาระแข็ง ๆ ที่ขับถ่ายยาก
ยิ่งปล่อยไว้นาน อาจเสี่ยงเป็นริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ได้เลยนะ
แก้ยังไงดี?
- ขยับตัวให้มากขึ้น เดินเล่น ยืดเส้น หรือทำโยคะเบา ๆ
- กินอาหารที่ช่วยกระตุ้นลำไส้ เช่น มะละกอ กล้วย เมล็ดแฟลกซ์
- เสริมโพรไบโอติกส์ เพราะจุลินทรีย์ดี ๆ จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
4. กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ทำให้เบ่งลำบาก
ขับถ่ายไม่ได้อาศัยแค่ลำไส้อย่างเดียว แต่ต้องใช้ กล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานช่วยเบ่งด้วย
ปัญหาคือพออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อพวกนี้ก็อ่อนแรง ทำให้ต้องออกแรงมากขึ้นกว่าจะขับถ่ายออกมาได้ ถ้าเบ่งมากไป อาจเสี่ยงริดสีดวงทวาร หรือกระเพาะปัสสาวะเล็ดในผู้หญิงได้อีก
แก้ยังไงดี?
- ฝึก บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยท่า Kegel
- นั่งขับถ่ายในท่าที่เหมาะสม ใช้ที่รองเท้าให้เข่ายกสูงขึ้น จะช่วยให้เบ่งง่ายขึ้น
- กินอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น ปลา ไข่ เต้าหู้
5. ฮอร์โมนเปลี่ยนไป ส่งผลต่อลำไส้โดยตรง
พออายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนในร่างกายก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และในผู้ชายที่มีฮอร์โมนลดลง
นอกจากนี้ยาหลายชนิดที่ผู้สูงอายุใช้ เช่น ยาลดความดัน ยาแก้ซึมเศร้า หรือยารักษาพาร์กินสัน ก็อาจทำให้ท้องผูกได้
แก้ยังไงดี?
- ปรึกษาหมอ ถ้าสงสัยว่ายาที่กินทำให้ท้องผูก
- เสริมอาหารที่ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ เช่น แมกนีเซียมจากกล้วย ถั่ว ผักใบเขียว
- เพิ่มโพรไบโอติกส์ เพื่อช่วยให้ลำไส้สมดุล
เพราะฉะนั้น สรุปแบบนี้นะครับว่า อายุที่มากขึ้นทำให้ขับถ่ายยากขึ้น แต่เราสามารถช่วยให้ลำไส้ทำงานดีขึ้นได้ง่าย ๆ แค่ทำตามที่บอกด้านบนนะ
ถ้าท้องผูกหนักจนรบกวนชีวิตประจำวัน อย่าปล่อยไว้นาน! ลองปรับพฤติกรรมก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริง ๆ ปรึกษาหมอเพื่อหาทางแก้ไข ขับถ่ายดี สุขภาพดี ชีวิตก็ดี ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ

"กัน จอมพลัง" เปิดภาพโชว์คนแหวกเต็นท์ศูนย์พักพิง ไปถ่ายรูปนายกฯ

สลด ลูกชายปลิดชีพยกครัว พ่อ แม่ น้อง ทิ้งร่างไว้กลางบ้าน 2 วัน

"ฝันดี-ฝันเด่น" ค้นหาเหยื่อซากอาคาร สตง.ถล่ม เจอภาพสุดสะเทือนใจ

"คุณกุ๊กไก่" ถูกรางวัลที่ 1 รับทรัพย์เต็มๆ 12 ล. พร้อมเผยที่มา
