วิธีดู "เขียง" ในบ้านคุณ แบบไหน เสี่ยงมะเร็งตับ หลายคนไม่รู้

ใช้ทุกวันแต่อาจเสี่ยง! “หมอเจด” เตือนภัยเขียงไม้ หากดูแลไม่ถูกวิธี อาจสะสมเชื้อราปล่อยอะฟลาทอกซิน ตัวการร้ายของมะเร็งตับแบบไม่รู้ตัว แนะเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ
เขียงในครัวบ้านคุณ…ปลอดภัยแค่ไหน? “หมอเจด” เปิดข้อมูลชวนสะดุ้ง เขียงไม้ที่ใช้เป็นประจำ หากไม่ได้ล้างสะอาด-ไม่ตากแห้ง อาจเป็นแหล่งกำเนิดสารก่อมะเร็ง พร้อมวิธีเลือก-ดูแลเขียงแบบไม่ต้องโยนทิ้ง
"หมอเจด" นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
ของใกล้ตัวที่อยู่ทุกบ้าน แต่เสี่ยงมะเร็งตับแบบไม่รู้ตัว !
เชื่อว่าทุกบ้านมี "เขียง" ที่เราใช้ทำกับข้าวกันทุกวัน โดยเฉพาะเขียงไม้ที่ดูบ้าน ๆ ธรรมชาติ ๆ เนี่ย
แท้จริงแล้วสาเหตุมะเร็งตับโดยที่เราไม่รู้ตัว ฟังดูน่ากลัว แต่มันก็ไม่ถึงขั้นต้องโยนเขียงทิ้งทันทีหรอก
แค่เราต้องรู้จักดูแล และเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นปัญหาได้
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังมะนเป็นแบบนี้ได้ยังไง และเราควรระวังหรือเลือกใช้ยังไงดี
1. เขียงไม้ = ที่สะสมเชื้อราระดับไม่น่าไว้ใจ
อธิบายแบบนี้นะครับว่า เขียงไม้เป็นของที่ใช้ไปนาน ๆ แล้วมันจะมีรอยบากเต็มไปหมด
ทีนี้พอเราหั่นหมู หั่นไก่ หั่นอะไรก็แล้วแต่ เศษอาหาร น้ำมัน และความชื้นมันจะเข้าไปฝังในร่องพวกนั้น
แล้วถ้าเราไม่ได้ล้างสะอาดจริง ไม่ได้ผึ่งให้แห้งสนิท เชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Aspergillus flavus หรือ A. parasiticus
ก็อาจจะมาเติบโตตรงนั้นได้เลย เชื้อราพวกนี้ไม่ได้แค่น่าเกลียดอย่างเดียว
แต่มันยังปล่อยสารพิษที่ชื่อว่า อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ออกมาด้วย ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่ามันร้ายยังไง
2. อะฟลาทอกซิน สาเหตุมะเร็งตับ
สารอะฟลาทอกซินนี่แหละครับ มันเป็น “สารก่อมะเร็งอันดับหนึ่ง” ที่องค์การอนามัยโลก (WHO)
ยืนยันมาเลยว่าเป็นของจริงแน่นอน โดยเฉพาะมะเร็งตับ
แม้เราจะได้รับในปริมาณน้อย ๆ จากเศษอาหารบนเขียงบ้าง อาหารแห้งบ้าง
แต่ถ้ามันสะสมในร่างกายไปเรื่อย ๆ ทุกวัน ตับเราจะค่อย ๆ ถูกทำลายแบบเงียบ ๆ จนวันนึงอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้โดยไม่รู้ตัว
ยิ่งคนที่เป็น ไวรัสตับอักเสบบีหรือซีอยู่แล้ว ยิ่งเสี่ยงเข้าไปใหญ่เลยครับ เพราะมันจะไปกระตุ้นให้ตับอักเสบรุนแรงขึ้นอีก
3. เขียงแบบไหนที่เสี่ยงที่สุด?
เขียงไม้ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ แต่ที่น่าห่วงคือพฤติกรรมการใช้งานของเราเอง ถ้าใช้แบบนี้ บอกเลยว่าเสี่ยงสุด ๆ
- ใช้มานานจนเป็นร่องลึก ผิวขรุขระ
- ไม่ล้างให้สะอาด หรือแค่ล้างน้ำเฉย ๆ แล้วเก็บเลย
- ตากไว้ในที่อับ ๆ อย่างใต้ซิงค์ หรือในถังครัวแบบปิดทึบ
- ใช้เขียงเดียวกันหั่นทั้งของดิบและของสุก
ฟังแล้วลองเช็กเขียงดูนะครับ หลายบ้านน่าจะทำแบบนี้กันเป็นเรื่องปกติเลย
4. ทำยังไงให้เขียงปลอดภัย ไม่เสี่ยงมะเร็ง?
จริง ๆ ไม่ต้องเลิกใช้เขียงไม้หรอกครับ แค่เรารู้จักดูแลให้ถูกวิธีก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เยอะมาก ลองทำตามนี้ดู
แยกเขียงของดิบกับของสุกเด็ดขาด อย่างน้อยควรมี 2 เขียง
•ล้างเขียงด้วยน้ำร้อน น้ำส้มสายชู หรือเบกกิ้งโซดา
•หลังล้างแล้วต้อง “ตากให้แห้งสนิท” ห้ามเก็บตอนเปียก
•ถ้ามีแปรงขัดเขียงก็ใช้ขัดคราบตามร่องบ้างเป็นระยะ
•เปลี่ยนเขียงใหม่ทุก 6 - 12 เดือน อย่ารอให้ผุหรือมีกลิ่น
ใครขยันหน่อย เอาเขียงไปตากแดดอาทิตย์ละครั้งก็ช่วยฆ่าเชื้อได้ดีเลยครับ
5. แล้วถ้าจะเปลี่ยนเขียง ควรเลือกแบบไหนดี?
เขียงมีหลายแบบมากครับ แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ถ้าให้เปรียบเทียบแบบง่าย ๆ:
เขียงไม้
•ฟีลธรรมชาติ ใช้แล้วนุ่ม ไม่บั่นมีด
•แต่ต้องดูแลเยอะมาก ต้องตากแห้งบ่อย ขัดบ่อย เปลี่ยนบ่อย เหมาะกับคนขยันล้างขยันดูแลหน่อย
เขียงพลาสติก
•ล้างง่าย ไม่ดูดน้ำ ไม่เหม็น
•แต่ถ้าใช้ไปนาน ๆ จะมีรอยบากเยอะ เสี่ยง ไมโครพลาสติก ปนในอาหาร
เหมาะกับคนเน้นสะดวก แต่ควรเปลี่ยนบ่อยทุก 3-6 เดือน
เขียงเหล็ก/สเตนเลส•ล้างง่าย สะอาดสุด ๆ เชื้อราไม่มาแน่
•แต่ผิวแข็งมาก อาจทำให้มีดบิ่น แถมเสียงดังเวลาหั่น เหมาะกับครัวที่หั่นเนื้อเยอะ ๆ
ถ้าถามว่าเลือกแบบไหน แนะนำเอาให้ตรงกับไลฟ์สไตล์และความชอบนะ และต้องต้องดูแลควบคู่แบบนี้
•ใช้เขียงแยก “ของดิบ-ของสุก” เสมอ
•ถ้าใช้ไม้หรือพลาสติก ต้องหมั่นสังเกตรอย กลิ่น และความสะอาด
•ถ้ามีงบหน่อย แนะนำมีครบ 3 แบบ แล้วใช้ให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท
ฝากด้วยนะครับ เพราะประเทศไทยติดอันดับโลกเรื่อง มะเร็งตับ
นอกจากนี้ยังต้องระวังของอื่นๆ เช่น ข้าวสารเก่า ถั่วลิสงขึ้นรา อาหารแห้ง และแน่นอนเขียงไม้
ก็ยังย้ำนะว่าเขียงไม้ไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ แต่วิธีที่เราใช้มันต่างหากที่สำคัญ
ถ้าเราล้างดี ตากแห้ง ดูแลเหมือนอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสอาหารโดยตรงทุกวัน ก็ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้เยอะมาก
ของบางอย่างมันไม่อันตราย ถ้าเราใช้อย่างเข้าใจ แต่ของใกล้ตัวที่เรามองข้าม ไปบางทีมันก็อันตรายกว่าที่คิด
ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ