เมื่อวันที่ 28พ.ย.66 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดยกล่าวว่า ครม. ได้มีมติ (31 ต.ค. 66) เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอว่า รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
สำหรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ
โดย สาระสำคัญของร่าง "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" มีดังนี้
มีระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ โดยกำหนดให้ คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดของประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย มาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ระบบเฝ้าระวังเพื่อคุณภาพอากาศสะอาด ระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ กรอบแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด และแผนปฏิบัติการการพัฒนาคุณภาพอากาศ
มีมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท
- แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร
- แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง
- แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ
- แหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน
มีเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
มีเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ดังนี้ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง และมาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาดมีความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษ
ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก ครอบคลุมทุกมิติ เป็นกฎหมายใหม่ที่มีความเฉพาะ ทำให้สามารถบริหารจัดการอากาศสะอาดได้อย่างแท้จริง ป้องกันปัญหาด้านอากาศที่จะเกิดขึ้น และแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่มีอยู่ ให้ลดลงและหมดไป
มีการบูรณาการการบริหารจัดการบนหลักการของ การป้องกันไว้ก่อน แก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของการดำเนินการ การสั่งการ การปฏิบัติงาน ในแต่ละคณะกรรมการหลักและคณะกรรมการย่อยต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือและกลไกที่ทันสมัยและเหมาะสมสำหรับขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศของประเทศ ครอบคลุมแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศทุกประเภท มีกลไกการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีระบบฐานข้อมูลคุณภาพอากาศแห่งชาติ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ
อีกทั้งประชาชนยังสามารถทราบข้อมูลพื้นฐานของคุณภาพอากาศ และมีช่องทางรายงานสภาพปัญหามลพิษอากาศที่เป็นปัจจุบัน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่า การที่ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.นั้น จะทำให้ประชาชนชาวไทยได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน และสามารถมีส่วมร่วมกับวิธีการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ ทั้งหมด 3 วาระ โดยวาระที่ 1 ทางสภาฯจะพิจารณาและลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัติ หากว่าสภารับหลักการ ก็จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นในลำดับต่อไป