หน้าหนาวปุ๊ป ฝุ่นเยอะกว่าปกติปุ๊บ
ประเทศไทยพอเข้าสู่หน้าหนาวหลายคนคาดหวังอากาศที่เย็นสบายให้พอได้สัมผัสฤดูหนาวบ้างแต่ที่ไหนได้พอเข้าสู่หน้าหนาวทีไรกลับต้องเจอกับปัญหาฝุ่นที่เยอะขึ้นกว่าปกติทุกครั้ง
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปกติแล้วอากาศที่อยู่บริเวณเหนือพื้นดินจะมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า และอากาศจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่อุณหภูมิสูงไปยังอุณหภูมิต่ำ หมายความว่าในภาวะปกติ อากาศเหนือพื้นดินที่มีอุณหภูมิสูงจะเคลื่อนตัวขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และจะพัดพาเอาฝุ่นละออง ควัน และสิ่งอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศลอยขึ้นไปด้วย แต่ในช่วงฤดูหนาว หรือช่วงปลายฤดูหนาว ประเทศไทยของเราจะได้รับความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือแผ่ลงมาปกคลุม ทำให้อุณหภูมิในประเทศต่ำลง ส่งผลให้พื้นดินมีการคายความร้อนอย่างรวดเร็ว อากาศเหนือพื้นดินจึงเริ่มเย็นลงตามไปด้วย ทำให้การเคลื่อนตัวของอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เรียกว่าภาวะอุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion) มีอากาศร้อนเข้าไปแทรกอยู่ตรงกลางกลายเป็นเกราะหนาคล้ายเพดานห้อง ทำให้อากาศไม่ไหลเวียนตามปกติ ไม่มีลม ไม่มีการถ่ายเทอากาศ หรือที่เรียกกันว่า ‘อากาศปิด’ ดังนั้น วันที่อากาศปิดซึ่งจะเกิดในช่วงหน้าหนาว จึงเป็นวันที่มีค่าฝุ่นละออง หรือ PM2.5 พุ่งสูง เพราะฝุ่นเหล่านี้โดนเพดานเกราะปิดกั้นเอาไว้ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงสะสมกันอยู่บนท้องฟ้า และบางครั้งก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเมื่อถึงวันที่อากาศเปิด หรือความกดอากาศสูงพัดผ่านไป อากาศสามารถเคลื่อนตัวได้ตามปกติ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก็จะเบาบางลง
รู้หรือไม่ต้นไม้ช่วยลดฝุ่นได้
นักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ศึกวิจัยพบว่าต้นไม้สามารถช่วยลดฝุ่นได้ โดยงานวิจัยมีชื่อว่า “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5”
“ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” กับต้นไม้ 3 ระดับช่วยลดฝุ่น
- ไม้ขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้เดิมจะปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ประดู่บ้าน และพิกุล
- ไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก โดยทั่วไปนั้นฝุ่นละอองเล็ก PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่างเกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลมเมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้นยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้
ต้นไม้แต่ละประเภทมีความสามารถในการดูดซับฝุ่นละออง และสารพิษต่างกัน ต้องเลือกชนิด และการจัดวางที่เหมาะสม โดยภายในสวนได้โซนจัดวางต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่
โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม อาทิ ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ที่มีสรรพคุณช่วยลดสารระเหยกลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ต้นลิ้นมังกรสามารถลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450 – 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
โซนพันธุ์พืชลดมลพิษ อาทิ ต้นหมาก ต้นเดหลี ต้นพลูปีกนก ต้นคล้ากาเหว่าลาย ต้นกวักมรกต ต้นคล้าแววมยุราและต้นคล้านกยูง ซึ่งจากงานวิจัยพันธุ์พืชลดมลพิษพบว่า พืชจำนวนมากสามารถช่วยบำบัดฝุ่นและมลพิษอากาศอื่น ๆได้ดี อีกด้วย
“ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” น่าจะถูกใจคนชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้วใครกำลังอยากปรับพื้นที่สวนลองนำงานวิจัยดังกล่าวไปปรับใช้กับพื้นที่ต่าง ๆ ของตัวเอง ทั้ง อาคารสถานที่ของหน่วยงาน อาคารบ้านเรือนห้องชุด ที่สามารถเลือกชนิดของพรรณไม้ให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณฝุ่นมลพิษ PM2.5 ลงได้
ขอบคุณข้อมูล กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ