นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึง เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน ในหัวข้อ “Lessons and Learns: Ways toward Sustainability” ในงานสัมมนา “SUSTAINABILITY FORUM 2024” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในระดับโลก โดย UN ได้มีการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 SDGs จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 แต่ในตอนนี้ทำได้แค่ 12% ซึ่งช้ากว่ากำหนดและเป็นเรื่องภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ
โดยจากผลการศึกษาพบว่า ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5.9 หมื่นล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 34% และประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่อันดับที่ 19 ของโลก จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องมาเร่งหาแนวทางและมาตรการต่างๆ ในการหาทางออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้อีกความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือเรื่องของขยะอาหารที่ทั่วโลกจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อพื้นที่เพาะปลูก แหล่งผลิตอาหารลดลง ทำให้จำนวนผู้หิวโหยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังส่งผลกระทบในระบบเศรษฐกิจไปด้วย ดังนั้น เราต้องปรับตัวและแก้ปัญหาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก
ความมุ่งมั่นของเครือซีพี กับ การสร้างความยั่งยืน แก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ความมุ่งมั่นของเครือซีพีในฐานะภาคเอกชนที่ตระหนักและให้ความสำคัญที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการสร้างความยั่งยืนและแก้ปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกำจัดขยะของเสีย ซีพีตั้งเป้าด้วย 3 เป้าหมายหลักเพื่อธุรกิจยั่งยืน ที่จะต้องทำให้สำเร็จในปี 2030
1.ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ (Zero Waste)
ลดของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 จากที่ปี 2022 ซีพีปริมาณของเสียที่ยังต้องนำไปฝังกลบ 10% หรือ 110,880 ตัน แบ่งเป็นขยะอาหาร สูญเสียจากการผลิต เถ้าถ่าน เปลือกไข่ และอื่นๆ
โดยปัจจุบันเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ได้ดำเนินการปรับโมเดลธุรกิจเพื่่อนำองค์กรสู่ Net Zero และ Zero Waste เช่น ได้มีการจัดการของเสีย ด้วยการนำมูลสัตว์ไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไปแล้วกว่า 5.8 แสนตัน รวมไปถึงมีการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนทั้งการใช้ถุงพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล 94% การผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ฟาร์มสุกร การติดตั้ง Solar Rooftop ที่ห้างค้าปลีกค้าส่งซึ่งในตอนนี้เรามีการติดตั้งไปแล้ว 4,950 แห่ง ในขณะเดียวกันมีการใช้ไบโอแก๊สทดแทนการใช้ไฟฟ้าของฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ไข่ไปแล้ว 55% ทำให้ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงกว่า 1.7 แสนตันคาร์บอน
2.ตั้งเป้าหมายนำองค์กรสู่ Carbon Neutral ( Scope 1และ2) ในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050
เครือซีพีได้มีการวางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แบ่งเป็น Scope 1 และ 2 จะเน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน 50+50% ด้วยการใช้ไบโอแมส โซลาร์พีวี ไบโอแก๊ส ไบโอแมส รวมไปถึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 20% และลดขยะของเสียเป็นศูนย์ ทั้งในเรื่องของการผลิตปุ๋ย การทำใช้พลังงานทางเลือก
ในส่วนของ Scope 3 เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากแต่เครือฯ ต้องทำให้สำเร็จ ด้วยการร่วมมือกับคู่ค้าในการลดคาร์บอน 25% เกษตรกรรม 30% และการลดคาร์บอนจากการขนส่ง 25% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เช่น การใช้รถยนต์ EV ในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่จะต้องปรับโมเดลธุรกิจเน้นไปที่พลังงานสีเขียว พลังงานสะอาด สิ่งสำคัญภาคเอกชนจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐด้วย เช่นการผลักดันเรื่อง Smart Grid
3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เนื่องจากการศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ
เป้าหมายเหล่านี้สอดคล้องกับทั้ง 17 หัวข้อใน SDGs Goal นอกจากนั้นยังได้น้อมนำหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป้าหมายความยั่งยืนด้วย เพราะพื้นฐานของความยั่งยืนเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ต้องลด และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอย่างสมดุล โดยมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม