นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องในปีมหามงคล ครบ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้ทรงดีไซน์ลายผ้าวชิรภักดิ์ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายหัวใจ เป็นเสื้อผ้าให้ทางรัฐบาลช่วยกันไปโปรโมท ก็จะมีการตัดเสื้อผ้าใส่ ซึ่งแต่ละลายมีความสวยงาม มีทางเลือกที่หลากหลาย
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เร่งรัดพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยให้เร่งรัดทำเรื่องของ ชุดไทยพระราชนิยม เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อ UNESCO ต่อไป
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ชุดไทยฯ ที่เตรียมนำเสนอต่อยูเนสโกมีความพร้อมแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ ครม.ให้ความเห็นชอบก่อน และทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการส่งข้อมูลตามเอกสารที่ยูเนสโกกำหนด ให้ทันภายในเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นยูเนสโกจะนำข้อมูลมรดกภูมิปัญญาฯ ที่ประเทศต่าง ๆ นำเสนอ เข้าสู่วาระการพิจารณาตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนของไทย ปลายปี 2567 จะมีรายการต้มยำกุ้ง และเคบายา เข้ารับการพิจารณา และในลำดับถัดไปจะเป็นรายการชุดไทยพระราชนิยม มวยไทย และประเพณีลอยกระทง ตามลำดับ
ชุดไทยพระราชนิยม เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในลักษณะแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับงานช่างฝีมือ และการพิจารณานำชุดไทยไปใช้สวมใส่ตามโอกาส ถือเป็นแนวปฏิบัติการแต่งกายของสตรีไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และได้จัดทำข้อมูลรองรับการเตรียมเสนอต่อยูเนสโก ภายใต้ชื่อชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume)
ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ให้ข้อมูลถึงความสำคัญของชุดไทย ว่า เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยปรากฏหลักฐานรูปแบบการนุ่งและการห่มมากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอด
ในปี 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ เพื่อให้ประชาชนใช้ในโอกาสต่าง ๆ ปัจจุบันคนไทยนิยมสวมใส่ชุดไทยทั้ง 8 แบบในวิถีชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา งานพิธีการสำคัญในชีวิต
การสวมใส่ชุดไทยของคนไทย แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการการนุ่งห่มของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ และมีคุณค่าที่ควรตระหนักถึงความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ดังนี้