เกี่ยวกับคดีดัง"แอม ไซยาไนด์" สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ที่มีเหยื่อเสียชีวิตกว่า14 ราย ทาง ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงพฤติกรรม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยนิวส์ วิเคราะห์ประเด็นการเลียนแบบพฤติกรรม 'แอม ไซยาไนด์'
ดร.ตฤณห์ เปิดเผยว่า เรื่องการเลียนแบบ มีความเป็นไปได้เพราะมีคดีเช่นนี้ในต่างประเทศ การซึมซับพฤติกรรมในหนังของอาชญากรรม หรือจากคดีอาชญากรรมไซยาไนด์ที่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่าในส่วนอาชญากรไทยมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่จะก่อเหตุเลียนแบบ ดร.ตฤณห์ระบุว่า ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิด 'แอม' ว่าโทษทางกฎหมายจะหนักแค่ไหน เพื่อไม่ให้คนเอาเป็นเยี่ยงย่าง อาชญากรจะพึงนึกคิดชั่งน้ำหนัก ก่อนลงมือว่าคุ้มค่าหรือไม่ ที่จะก่อเหตุเช่นนี้กับโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ หากกระบวนการยุติธรรมไม่หนักแน่น รับโทษเวลาไม่นาน ย่อมจะเกิดคดีเช่นนี้ซ้ำหรือเลียนแบบ
นอกจากนี้ อาจารย์ตฤณห์ ยังวิเคราะห์พฤติกรรมการก่อเหตุฆาตกรรมคดี แอม ไซยาไนด์ อาการป่วยจิตเวชมีหลายประเภท ไม่สามารถไปเหมารวมได้ ถ้ามีสมาธิสติในการวางแผนก่อเหตุ ก็คงจะไม่นับว่าป่วยจิตเวช ตามสถิติพบว่าผู้ป่วยจิตเวช 100 คน จะมีแค่ 1 คน ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ถึงขั้นลุกมาทำร้ายคนอื่นจนถึงแก่ชีวิตได้
"ในเคสของแอม ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยจิตเวช อาจจะเป็นคนชั่วคนหนึ่ง คนเลวคนหนึ่ง ใช้วิธีการมักง่ายที่สุด ในการได้มาซึ่งทรัพย์สินผู้อื่น และคิดว่าจะไม่ได้รับโทษ"
อีกประเด็นที่มักถูกใช้อ้างคือ "โรคซึมเศร้า" ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่จะออกไปทำร้ายคนอื่น หรือสร้างความเดือดร้อนในสังคม ฟังไม่ขึ้นถ้าใช้เหตุผลนี้