การบินไทย เจอ พิษน้ำมันแพง เปิดผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุน 3.2 พันล้านบาท ถึงแม้การบินฟื้นตัว เคบิ้นแฟกเตอร์สูงต่อเนื่องดันรายได้เพิ่ม 282% บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 21,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 282% จากระดับ 5,635 ล้านบาทในปี 2564 โดยรายได้จากการขนส่งเพิ่มขึ้น 619.3% สู่ระดับ 19,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวอยู่ในระดับ 22,825 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 126.3% จากปี 2564 จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน 104.1% ทำให้รายจ่ายน้ำมันขึ้นมาสู่ระดับ 8,946 ล้านบาท คิดเป็น 39.2% ของรายจ่ายดำเนินงานทั้งหมด ในช่วงไตรมาสที่ 1 ต่อเนื่อง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลจากการที่รัฐบาลนำมาตรการ Test and Go กลับมาใช้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยของบริษัทฯ และสายการบินไทยสมายล์ในช่วง 10 วันแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10,238 และ 10,870 คนต่อวันจาก 4,929 และ 269 คนต่อวัน สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อวันของบริษัทฯ กลับไปอยู่ในระดับร้อยละ 50 ของปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เป็นผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 1,299 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากจากปีก่อนที่ขาดทุน 4,449 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) นั้น EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน มีกำไรจำนวน 168 ล้านบาทในไตรมาส 2 ของปี 2565 เทียบกับการขาดทุน 9,212 ล้านบาทในปี 2564 นับเป็นไตรมาสแรกหลังเข้าแผนฟื้นฟูที่ EBITDA หลังหักค่าเช่าเป็นบวก
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,102 ล้านบาท มีรายได้สุทธิจากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 1,982 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร รวมถึงกำไรจากการขายเงินลงทุนและทรัพย์สิน ถึงแม้จะมีผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิจำนวน 3,213 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 23,326 ล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปี 2564 มีรายได้จากรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิ 27,100 ล้านบาท
ขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินจากการทยอยผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้จากกิจกรรมขนส่งของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผลการดำเนินงานที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 366.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นถึง 1,766.9% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 60.3% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 15.1% มีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 2.01 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 570% มีปริมาณการผลิตด้านการขนส่งสินค้า (ADTK) สูงกว่าปีก่อน 384.4% ปริมาณการขนส่งสินค้า (RFTK) สูงกว่าปีก่อน 241.5% อัตราส่วนการขนส่งสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 69.0% จากแนวโน้มปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 77.7% ทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารกว่า 30% ของจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทยทั้งหมด ส่งผลให้เงินสดคงเหลือของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เพิ่มขึ้นจาก 5,515 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2564 สู่ระดับ 13,474 ล้านบาท ณ สิ้นงวดครึ่งปีแรกของปี 2565