กกพ. สั่งการไฟฟ้า “ลดค่าบริการรายเดือน” ลดผลกระทบปชช.
กกพ.พร้อมบริหารต้นทุน ชง 3 ทางเลือก ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด ม.ค. - เม.ย. 2566 ส่งผลค่าไฟฟ้าตั้งแต่ 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย สั่งการไฟฟ้าลดค่าบริการรายเดือนจาก 38.22 เหลือ 24.62 บาทต่อเดือน เพื่อลดภาระบ้านที่อยู่อาศัย และ กิจการขนาดเล็ก
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. เมื่อวันที่ 9 .ย. 2565 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบ พ.ศ.- ส.ค. 2565 และ เห็นชอบผลการค้านวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงิน คืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟที่ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงิน คืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช กล่าวว่า การประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่อง กระบวนการและขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและ ปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 ตามผลการค้านวณของ กฟผ. ประกอบด้วย
1. การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 เท่ากับประมาณ 67,833 ล้าน หน่วย เพิ่มขึ้น 3,724 ล้านหน่วย จากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย. - ธ.ค. 2565) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,091 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.84%
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ยังคงใช้ก๊าซ ธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 54.20% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อ ไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 13.81% และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.46% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 6.25% พลังน้ำของ กฟผ. 3.48% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.73% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 6.31% และอื่นๆ อีกร้อยละ 6.75
3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค.–เม.ย. 2566 เปลี่ยนแปลง จากการประมาณการในเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการ ผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากรอบเดือน ก.ย.– ธ.ค. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1 - 30 ก.ย. 2555) เท่ากับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศ ไทยเป็นฐานซึ่งอ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2555 ที่ประมาณการไว้ที่ 34,40 บาทต่อดอลลาร์อยู่ 2.60 บาทต่อดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 7.75%)
สถานการณ์ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะที่อ่อนไหวและยังคงผันผวนอยู่ในระดับราคา ที่สูงตามสถานการณ์ราคา LNG และราคาน้ำมันในตลาดโลก
โดยมีปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและ ค่าเอฟทีเรียกเก็บตลอดปี 2566 ดังนี้
1. ความไม่แน่นอนของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและแนวโน้มที่จะสามารถจ่ายก๊าซจากแหล่ง เอราวัณเข้าสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้า LNG มาทดแทน
2. การลดลงของแหล่งก๊าซธรรมชาติทางตะวันตก (ในเมียนมา) โดยอาจจะต้องนำก๊าซธรรมชาติ เหลวหรือ LNG เข้ามาทดแทนในปริมาณมากขึ้นเพื่อทดแทนหรือหาแหล่งพลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังน้ำหรือ พลังงานหมุนเวียนอื่นๆเข้ามาทดแทน
3. สภาวะราคา LNG ในตลาดโลกมีการแกว่งตัวในระดับที่สูงถึงสูงมากเนื่องจากอุปสงค์ (Demand) ของ LNG ในตลาดโลกยังคงมีมากกว่าอุปทาน (Supply) และตลาดอาจจะมีลักษณะดังกล่าว ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 อันเป็นผลต่อเนื่องจากที่ยุโรปลดการนำเข้าก๊าซทางท่อจากรัสเซียและ หันไปซื้อ LNG ในตลาดจรแทนและการทยอยพื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลังวิกฤต Covid-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้นรวมทั้งประเทศไทย
4. อัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์) ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและส่งผล ต่อราคาเชื้อเพลิงและค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า กฟผ. และ IPP ที่เพิ่มขึ้น
5. การใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติสามารถลดการนำเข้า LNG ได้แต่การใช้น้ำมันยังคงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในระดับสูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ
6. ข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ. เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองภาคนโยบายในการตรึงค่าเอฟทีใต้ในระยะยาว
สํานักงาน กกพ จึงขอเรียกร้องให้มีการมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดและ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า LNG หรือลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อให้สามารถบริหารและสามารถควบคุมต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
กกพ.ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าบริการรายเดือนที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระหว่างวันที่ 3 - 17 ต.ค. 2565 แล้ว เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย รวมถึงประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU เดิม 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/ เดือน
2. กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ เดิม 46.16 บาท/เดือน เป็น 32.29 บาท/เดือน
3. กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิม 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดิอน
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะเร่งดำเนินการประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อให้การปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็กอีกทางหนึ่งด้วย นายคมกฤช กล่าว