'กรุงเทพธนาคม' ปรับขึ้นค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็น 16 บ.ตลอดสาย

06 ธันวาคม 2565

'กรุงเทพธนาคม' เตรียมปรับเพิ่ม 1 บาท เป็นราคา 16 บาท ตลอดสาย เริ่ม 1 ม.ค.66 ซึ่งในขณะที่  'บีทีเอส' แจ้งปรับราคาใหม่ 17 - 47 บาท เริ่ม 1 ม.ค.66

'กรุงเทพธนาคม' ปรับขึ้นค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีทอง" เป็น 16 บ. ตลอดสาย เริ่ม 1 ม.ค.66 

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด แจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า  เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ม.ค.นี้ เป็นต้นไป KT จะปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) จากราคา 15 บาทตลอดสาย ปรับเป็น 16 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารโครงการ

\'กรุงเทพธนาคม\' ปรับขึ้นค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็น 16 บ.ตลอดสาย

 

ในส่วนของอัตราค่าโดยสารลดหย่อนยังเป็นอัตราเดิม 8 บาทตลอดสาย สำหรับผู้สูงอายุสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้โดยสารทหารผ่านศึกตามกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยยกเว้นค่าโดยสารสำหรับเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร และคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

\'กรุงเทพธนาคม\' ปรับขึ้นค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็น 16 บ.ตลอดสาย

ตามมาที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 บริษัทฯ จะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี ได้แก่

- สายสุขุมวิท  สถานีหมอชิต –สถานีอ่อนนุช
- สายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน
- ส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ 

จากราคา 16 - 44 บาท ปรับเป็น 17 - 47 บาท  ทั้งนี้ การปรับราคา ค่าโดยสารใหม่นั้น ยังต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 21.52 - 64.53 บาท

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาตั้งแต่ปี 2542 เป็นเวลา 23 ปี มีการปรับราคาเพียง 3 ครั้ง เท่านั้น โดยการปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ปรับจาก 15 - 42 บาท เป็น 16 - 44 บาท จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมากว่า 5 ปีแล้วที่บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บโดยสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทฯ สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุกๆ 18 เดือน โดยไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุด แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนจึงได้มีการชะลอการปรับอัตราค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกทั้งบริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการสูงสุดถึง 98 ขบวน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้พยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาโดยตลอด

สำหรับ ผู้โดยสารที่ใช้บัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card) บัตรแรบบิทบุคคลทั่วไป (Adult) บัตรแรบบิทนักเรียน นักศึกษา (Student) จะคิดอัตราเดิมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 และจะเริ่มคิดอัตราค่าโดยสารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ส่วนบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ (Senior) จะยังคงได้รับส่วนลด 50% ของอัตราค่าโดยสารปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางแบบไม่จำกัดเที่ยว และระยะทางต่อวัน สามารถซื้อบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวัน (One-Day Pass) ในราคา 150 บาท 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มีความหลากหลาย อาทิเช่น โปรโมชั่นสะสมพอยท์จากการเดินทางเพื่อแลกเที่ยวฟรี (“บีทีเอส ชาเลนจ์”) นับตั้งแต่ออกโปรโมชั่น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารแลกเที่ยวฟรีแล้วกว่า 4 ล้านเที่ยว และบริษัทฯ ยังคงมอบความคุ้มค่าแก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องกับโปรโมชั่นบีทีเอส ชาเลนจ์ โดยจะเริ่มโปรโมชั่นปีที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึง 31 ธ.ค. 2566 ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งได้พอยท์มาก แลกเที่ยวฟรีได้ไม่จำกัด  พิเศษ 3 เดือนแรก 1 ม.ค. 2566 ถึง 31 มี.ค. 2566 ผู้โดยสารรับโบนัสพอยท์เพิ่มจากการเดินทางเพื่อนำไปแลกเที่ยวฟรี ซึ่งจะช่วยให้ค่าโดยสารเฉลี่ยที่จ่ายมีอัตราใกล้เคียงกับอัตราค่าโดยสารเดิม