ส.อ.ท. ขอค่าไฟงวดใหม่ไม่เกิน 5 บาท เหตุ “พลังงาน” โชว์กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทย
ทางด้านนาย นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟของประเทศ โดยขณะนี้ยังไม่มีการลงนามตั้งกรอ.พลังงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอชื่อตัวแทนของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะส่งรายชื่อทั้ง 2 ฝ่ายครบภายในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดสงขลา (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ส่งตัวแทนองค์กรละ 2 คน คาดจะมีการลงนามได้ภายในเดือนมกราคม 2566 ส่วนประธานคณะกรรมการกรอ.พลังงาน คาดว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นประธานเอง
ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานเสร็จแล้วจะมีการประชุมเมื่อไรนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าจะเร็วแน่นอน เพราะประเด็นเรื่องของค่าไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องที่คนไทยมีความกังวล และในเดือนมีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ คือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ดังนั้น กรอ.พลังงาน ก็ควรจะต้องมีการพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ให้แล้วเสร็จเพื่อใช้พิจารณาค่าไฟงวด 2 ของปีนี้
“คาดหวังว่า กรอ.พลังงาน จะพิจารณาต้นทุนค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่เหมาะสม และเป็นธรรมทุกภาคส่วน ไม่ผลักภาระให้ภาคเอกชนเหมือนงวดที่ผ่านมาและไม่ควรเกินหน่วยละ 5 บาท เพราะเวลานี้ราคาพลังงานโลกเริ่มลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้น ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ระหว่างเชิญตัวแทนกกร.เข้าหารือช่วงปลายปีที่ผ่านมา"
สำหรับประเด็นกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยนั้น อยากให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บริษัท ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) แสดงข้อมูลยืนยันการจัดหาที่ชัดเจน เพราะส่วนตัวยังคงกังวลว่า หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว การจัดหาก๊าซในประเทศที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไว้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการ ส.อ.ท. ได้ต่อสู้เพื่อปรับต้นทุนค่าไฟฟ้าของเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการภายใต้ข้อมูล เหตุผล จนทำให้รัฐบาลยอมถอย รื้อต้นทุนใหม่ จนสามารถลดค่าไฟกลุ่มผู้ใช้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ครัวเรือน หรือ ค่าไฟเอกชนที่อุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้สัดส่วนมากที่สุดจาก 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ นายสุพัฒนพงษ์ ได้เชิญตัวแทนกกร.เข้าหารือโดยคาดการณ์ว่า ราคาพลังงานโลกจะเริ่มลดลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และคาดว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นนั้น ได้มีข้อสรุป 3 ข้อหลัก คือ 1. ขอให้สมาคมธนาคารยืดขยายระยะเวลาการส่งคืนเงินต้นสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนออกไปอีก 1 ปี อัตราดอกเบี้ยในราคาถูกเพื่อลดค่าเอพี หรือ ค่าความพร้อมจ่าย จากโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤติพลังงานสูง
2. ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 100% (มีมากกว่า1,000ราย) ให้ลดการใช้ลงเหลือ 80% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซล20% ที่มีราคาถูกกว่า หรือใช้พลังงานทดแทนอื่นที่เหมาะสม 3. ตั้ง กรอ.ด้านพลังงาน แต่ในส่วนของส.อ.ท.มองว่า ทั้ง 3 ข้อยังไม่ตอบโจทย์ตาม 5 เสนอของกกร.
“ทั้ง 3 ข้อของรัฐบาล พบว่า ข้อ 2 มีปัญหามากที่สุด เพราะการติดตั้งระบบเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างอื่นเป็นการชั่วคราว อาทิ น้ำมันเตา ดีเซล แอลพีจี ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ขณะที่ภาครัฐควรมีแพคเกจซอฟต์โลน หรือ อินเซนทีฟ เรื่องการหักภาษี เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนทั้งระบบเดินท่อและถังเก็บ และบางโรงงานไม่มีพื้นที่บัฟเฟอร์โซนรองรับอาจไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานอย่างอื่นได้เนื่องจากปัญหามลพิษและข้อกำหนดทางกฎหมาย” นายอิศเรศ กล่าว
สำหรับ 5 ข้อเสนอของกกร. ประกอบด้วย 1.ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน 2.ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เนื่องจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รับภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นการสมควรและอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี
3.ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติแบบขั้นบันได เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้ มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน อาทิ การปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง Off-Peak (ช่วงไฟฟ้ามีราคาถูก) มากขึ้น
4.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น โดยเน้นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการชั่วคราวในช่วงวิกฤตพลังงาน และสามารถขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินกลับให้การไฟฟ้า และ 5.มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ. ด้านพลังงาน)
“จาก 5 ข้อของเอกชนนำไปสู่ 3 ข้อจากภาครัฐ แต่เอกชนพบว่า รัฐบาลยังไม่ตอบรับข้อเสนอเอกชน ข้อ 1 คือ การหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยแทน ไม่ใช่โยนภาระเอกชน และข้อ 4 ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองให้มากขึ้น 2 เรื่องนี้กลับไม่มีการพูดถึงเลย ดังนั้นในการประชุมกรอ.พลังงาน ส.อ.ท.จะยังคงผลักดัน 5 ข้อเสนอ โดยเฉพาะข้อ 1 และ ข้อ 4 เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เป็นประโยชน์กับคนไทย และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน” นายอิศเรศ กล่าว