ข่าวดี! กยศ. แจง ผู้กู้ภาระหนี้สูงสามารถขอลดการหักเหลือ 100 บาทต่อเดือน
ทางด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ชี้แจงว่า “จากกรณีที่มีหนังสือของกองทุนปรากฏในข่าวนั้น เป็นหนังสือที่กองทุนได้ส่งถึงหน่วยงานนายจ้างเพื่อแจ้งวิธีการคำนวณเงินรายเดือนเพื่อชำระหนี้คืนกองทุนด้วยการหักเงินเดือน ซึ่งตัวเลขที่ระบุในหนังสือเป็นตัวเลขตัวอย่างของผู้กู้ยืมที่มียอดผิดนัดชำระหนี้สูง แต่ในทางปฏิบัติเมื่อผู้กู้ยืมได้รับหนังสือดังกล่าว ผู้กู้ยืมสามารถยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้หรือขอไกล่เกลี่ยกับกองทุนแล้วแต่กรณี และสามารถขอปรับลดจำนวนที่หักเงินเดือน โดยชำระขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน ที่ผ่านมากองทุนได้มีการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมด้วยระบบการหักเงินเดือนนำส่งกรมสรรพากรไปแล้วจำนวน 1.7 ล้านราย ผ่านหน่วยงานนายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 1 แสนแห่ง
เมื่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ กองทุนจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี กรณีผิดนัดชำระคิดอัตราเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี รวมถึงในการกู้ยืมเงินกองทุนไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด ทั้งนี้ ระยะเวลาการผ่อนชำระจะคำนึงถึงรายได้และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืม ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืนเป็นงวดรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้ กรณีที่ผู้กู้ยืมมีหนี้ค้างชำระจะทำการตัดชำระหนี้จากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ ซึ่งกฎหมายใหม่ดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้วให้สามารถแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือและให้โอกาสทุกคน และจะเป็นหลักประกันของทุกครอบครัวว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด