พาณิชย์ จ่อขึ้นราคา "นมกล่อง" 50 สตางค์ เนื่องจากน้ำนมดิบปรับราคาเพิ่มขึ้น

12 มกราคม 2567

ล่าสุด "พาณิชย์”ขอดูต้นทุนผลิต "นมกล่อง” เตรียมปล่อยปรับขึ้น 50 สตางค์ ลังมิลค์บอร์ดไฟเขียว เหตุน้ำนมดิบปรับราคา เผยวิกฤตทะเลแดง ส่งผลต้นทุนนำเข้าปุ๋ย-เคมี

พาณิชย์ จ่อขึ้นราคา "นมกล่อง" 50 สตางค์ เนื่องจากน้ำนมดิบปรับราคาเพิ่มขึ้น 

พาณิชย์ จ่อขึ้นราคา \"นมกล่อง\" 50 สตางค์ เนื่องจากน้ำนมดิบปรับราคาเพิ่มขึ้น

ภายในวันนี้ 12 มกราคม ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) อนุมัติให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กิโลกรัมละ 2.50 บาท คือปรับจากเดิมกิโลกรัมละ 20.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโคนมนั้น กระทรวงพาณิชย์จะรับมติมิลค์บอร์ดมาดำเนินการ โดยจะพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนของน้ำนมดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งตามขั้นตอนผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายมายังกรมการค้าภายใน โดยกรมจะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติราคาภายใน 15 วันหลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นขอปรับ

พาณิชย์ จ่อขึ้นราคา \"นมกล่อง\" 50 สตางค์ เนื่องจากน้ำนมดิบปรับราคาเพิ่มขึ้น
 

 

 

 

“การพิจารณาการปรับขึ้นราคานมจะไม่เท่ากัน แตกต่างตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบของแต่ละผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ ทั้งนมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไลซ์ โดยนมรสจืด จะปรับขึ้นราคามากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนนมดิบ 100% คาดว่าการปรับราคานมดิบครั้งนี้ จะส่งผลกระทบทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเฉลี่ย 40-50 สตางค์/กล่องขนาด บรรจุ 225 มิลลิลิตร เป็นไซซ์มาตรฐาน” ร้อยตรีจักรากล่าว

ร้อยตรีจักรากล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่ และเนื้อหมูนั้น กรมได้รับข้อสั่งการของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาดำเนินการ โดยจะเร่งประสานกับผู้เลี้ยงเพื่อเข้าไปช่วยดูแลเรื่องต้นทุนการผลิต และรักษาสมดุลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
 

ร้อยตรีจักรากล่าวถึงผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จากกรณีกองทัพฮูติโจมตีเรือขนส่งสินค้าเส้นทางทะเลแดงว่า จากการหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และตัวแทนสายการเดินเรือ พบว่าเหตุการดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าระวางเรือที่แพงขึ้น

โดยเฉพาะวัตถุดิบปุ๋ยเคมี และเหล็ก แต่ยังไม่กระทบทำให้ราคาจำหน่ายปรับเพิ่มขึ้น โดยพบว่าเหล็กยังมีแนวโน้มความต้องการใช้ในตลาดโลกในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ประสบปัญหาวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวทำให้ปริมาณการผลิตสูงกว่าความต้องการ จึงยังไม่ส่งผลกระทบให้ราคาเหล็กในประเทศปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนปุ๋ยเคมี ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่ายภายในเช่นกัน เนื่องจากปุ๋ยในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่สถานการณ์การใช้ยังทรงตัว รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกจากราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

“ขณะนี้การนำเข้าปุ๋ยและเหล็กยังไม่มีผลกระทบด้านราคา แต่เริ่มมีผลกระทบทางด้านต้นทุนการนำเข้าแล้วจากค่าระวางที่ปรับขึ้น โดยหลังจากนี้จะต้องจับตาสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิดต่อไป” ร้อยตรีจักรากล่าว