เป็นเรื่องราวที่มีการพูดถึงไม่น้อย หลังจากมีโปสเตอร์การโปรโมท ภาพยนตร์เรื่อง ทิดน้อย ที่มีนักแสดงนำอย่างอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม และ อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ แต่การโปรโมทครั้งนี้จะสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักเนื่องจากมีการใช้ค่าตัวนักแสดงมาโปรโมท ที่บอกว่า "ค่าตัวอั้ม สร้างหนังได้ 1 เรื่อง ค่าตัวอนันดา ซื้อคอนโดแถวทองหล่อได้ 1 หลัง พร้อมรถด้วย"
ซึ่งการโปรโมทในครั้งนี้ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ล่าสุด อนันดา พระเอกในเรื่องก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องประเด็นที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าตัวบอกตรงๆ ว่ายังไม่เห็นข่าว แต่ที่เขาบอกมามันอาจจะเป็นโมเดลคอนโด โมเดลรถ
โดย อนันดา ได้เปิดเผยว่า “คือมันไม่ได้อะไรอย่างนั้นหรอก ถ้าจำได้เป็นเรื่องที่พี่เขาแซวตั้งแต่เราบวงสรวง มันโจ๊ก ไอเดียเขาคือพูดให้มันโอเวอร์แหละ มันไม่ใช่เรื่องจริง ถ้ามันเป็นอย่างงั้นจริงๆ ก็ดีสิครับ ผมเล่นหนังมา 30 - 40 เรื่อง คงมีคอนโดอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แล้วล่ะ ซึ่งเราคงต้องจับเข่าคุยกันอีกนาน เพราะผมเป็นโปรดิวเซอร์อยู่แล้ว แล้วผมก็รู้เรื่องค่าตอบแทน ความไม่แฟร์ของงานในวงการนี้ มันมีหลายเลเวล ถ้าสมมติเรามามองกันแบบพื้นๆ ฉาบฉวย เป็นข่าวดราม่าเฉยๆ มันไม่เกิดประโยชน์ เพราะจริงๆ ถ้าเราจะมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ มันเป็นนโยบายมากกว่า”
พร้อมกันนี้ อนันดา ยังอธิบายต่ออีกว่า ต่างประเทศเขามีองค์กรที่ป้องกันคนในวงการ แล้วบ้านเรามีที่ไหน จริงๆ ถ้าจะคอมเพลนก็ช่วยผลักดันให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วมันไม่ใช่แค่วงการหนังอย่างเดียว มันหลายวงการเลย ทั้งอุตสาหกรรม ถ้าจะพูดในมุมของนักแสดง มันก็พูดปกคลุมทั้งวงการไม่ได้อยู่แล้ว นักแสดงที่ได้เยอะก็ไม่ใช่ทุกคน มันเฉพาะบางคน
"ผมว่าในมุมของผม มันเซนซิทีฟเกินไป มันคือโจ๊ก ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าบางทีเราไปจับคำพูดจากคอมเมนต์ที่มันออกไปทางย้อนกลับมาแรง แล้วเราก็ไปจับตรงนั้นมาตีความว่านี่คือเสียงของส่วนใหญ่ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ ส่วนใหญ่ทุกคนแยกแยะได้ และมองเห็นได้อย่างชัดอยู่แล้วว่านี่มันคือโจ๊ก มันคนละอย่าง ยังไงมันก็ยังเป็นโจ๊ก แค่รู้สึกว่าไม่ควรไปซีเรียสกับตัวเองจนเกินไป ถ้าแค่นี้คือดราม่าก็อาจจะเกินไป มันมีอะไรอีกเยอะที่จะคอมเพลนกันได้"
อนันดายัง บอกอีกว่า ตนนั้นไม่ซีเรียส เดี๋ยวอาทิตย์หน้าก็ลืม มันไม่ได้มีอิมแพ็กอะไรเท่าไร แต่ถ้าสมมติอยากจะคุยกันในเรื่องของความแฟร์ในวงการ อันนี้เรามานั่งจับเข่าคุยกันดีกว่า ตนยินดีที่จะคุย ตนเคยบ่นมานานแสนนานแล้ว ว่าทำไมเราไม่มีองค์กรอะไรมาเซฟนักแสดง มันมีสิทธิอีกเยอะที่ตนอยากได้เหมือนกันนะ อย่างถ้าตนทำงานอยู่ในองค์กรต่างประเทศ ตนรีไทร์ไปได้ตั้งนานแล้ว เพราะหนังทุกเรื่องที่ตนได้แสดงมา ตนได้แบล็กเอ็นทุกครั้งที่เขาเอาไปฉายใหม่ สแตนดาร์ดก็ไม่มีในประเทศไทย
"ถ้าจะให้มันเท่าเทียมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าคนจะมาเปิดประเด็นนี้ผมยินดีมาก อยากพูดมาก มันเป็นส่วนที่เราแคร์ แต่ว่าในส่วนที่เราคุยกันในงานก็แค่โจ๊ก อย่างที่บอกคุยกันแบบนี้มันอาจไม่ได้อะไรอยู่แล้ว คือมันอาจจะเริ่มมาจากวัฒนธรรมบ้านเรา
เช่น บางคนให้พื้นที่ดารามาก่อนนักแสดง อย่างหลายๆ คนที่เข้ามาในวงการ เขาถูกปั้นมา เขาไม่ได้ถูกหยิบมาจากโรงเรียน พอเขาถูกปั้นจากทางค่าย เขาจะมีปากเสียงได้ยังไง เขาก็ต้องอยู่ในค่าย แล้วพออยู่จุดนั้นเขาก็กลายเป็นโปรดักต์ของค่าย ถ้าเป็นไปได้ มันจะเป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าเป็นเรื่องยูเนียนทั้งคนในวงการและอุตสาหกรรม ทุกเลเวลเลย”
นอกจากนี้อนันดายังได้ทิ้งท้ายอีกว่า “ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟ ช่างภาพ แต่ครั้งนี้ก็ต้องได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ใหญ่ในวงการ และผม อยากให้ผมออกตัวตรงนี้ผมยินดีอยู่แล้ว รวมทั้งภาครัฐก็ต้องเข้ามา เพราะเราต้องยอมรับหลายอุตสาหกรรมในบ้านเรา ก็ถ้าเราแคร์กันจริงๆ อะไรที่อยู่ในใจก็อยากให้มันตาย ถ้ามันสามารถขยายต่อยอดเป็นการพูดคุยแบบจริงจัง ผมก็เป็นตัวแทนให้ได้อยู่แล้ว ยินดีครับ”
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Tnews