ความหวัง - ข้อสันนิษฐาน เรือดำน้ำไททัน หากขึ้นสู่ผิวน้ำไม่ได้ ก็คือจบชีวิต

21 มิถุนายน 2566

ความหวัง - ข้อสันนิษฐานเกิดอะไรขึ้น ทีมค้นหาต้องเร่งสุดชีวิต เพราะหากเรือดำน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำไม่ได้ ก็คือจบชีวิต

ความหวัง - ข้อสันนิษฐาน เรือดำน้ำไททัน หากขึ้นสู่ผิวน้ำไม่ได้ ก็คือจบชีวิต : ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะดูเหมือนว่าไทม์ไลน์ที่ลุ้นว่าจะมีผู้รอดชีวิตใน เรือไททัน (TITAN) เรือดำน้ำ ที่พาลูกเรือดำดิ่งใต้ทะเลลึกในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อชมซากของเรือไททานิค (Titanic) หรือ เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) ที่อยู่ลึกลงไป 3,800 เมตร จะเหลือเวลาไม่มากแล้ว 

 

TITAN

 

แม้จะมีรายงานว่า อ้างบันทึกภายในของรัฐบาลว่า ลูกเรือที่ร่วมในปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททันที่สูญหายไปตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน ได้ยินเสียงดังปังที่ดังขึ้นทุกๆ 30 นาที แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเสียงกระแทกที่ดังขึ้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อเวลาเท่าไร และยาวนานเพียงใด แต่เจ้าหน้าที่ยังได้ยินเสียงดังเพิ่มเติมในช่วงคืนวันอังคาร แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นเสียง "กระแทก"

 


เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคำอธิบายว่า "เสียงดังเพิ่มเติมจะช่วยในการค้นหาทิศทางของวัตถุบริเวณผิวน้ำ และบ่งชี้ว่ายังคงมีความหวังเกี่ยวกับผู้รอดชีวิต" ข้อมูลบันทึกภายในของรัฐบาลสหรัฐระบุ นอกจากนี้ เครื่องบิน P3 ของแคนาดายังตรวจพบวัตถุสี่เหลี่ยมมุมฉากสีขาวในน้ำ แต่เรือที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถูกถ่ายโอนไปช่วยในภารกิจวิจัยเสียงที่ดังขึ้นแทน

 


แม้เป็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้มีความหวังว่าอาจพบผู้รอดชีวิตในไม่ช้านี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกิดอะไรขึ้นกับ เรือดำน้ำไททัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้หลายประการด้วยกันดังนี้

 

โดย นายอีริก ฟูซิล (Eric Fusil) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำและรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลด ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญประการแรก คือไฟฟ้าดับ ซึ่งสามารถตัดการติดต่อการสื่อสารของเรือดำน้ำไททันกับโลกภายนอก โดยปกติแล้วเรือดำน้ำชนิดเดียวกับไททันจะมีพลังงานสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าไททันมีพลังงานสำรองหรือไม่ หรือมีมากน้อยเพียงใด

 


ปัจจัยที่ 2 คือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำลายระบบของเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดควันพิษในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อผู้โดยสาร

TITAN

ปัจจัยที่ 3 ที่นายฟูซิลตั้งข้อสันนิษฐาน คือน้ำซึมเข้าสู่พื้นที่ภายในเรือดำน้ำไททัน โดยที่ความลึกของเรือไททานิกนั้นจะก่อให้เกิดแรงดันมหาศาลที่ทำให้ยานพาหนะส่วนใหญ่ระเบิดได้ แต่บริษัทโอเชียนเกตฯ ผู้จัดทัวร์ดำน้ำชมซากไททานิกครั้งนี้ ระบุว่า ไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถจับตาแรงกดดันบนเรือได้ และจะส่งเสียงเตือนกัปตันเรือหากตรวจพบข้อบกพร่อง


ข้อสันนิษฐาน ปัจจัยสุดท้าย นายฟูซิลคาดการณ์ว่า เรือดำน้ำไททันอาจติดอยู่ในเศษซากชิ้นส่วนของอะไรบางอย่างหรือถูกปิดกั้นเส้นทาง เนื่องจากใต้มหาสมุทรนั้นกระแสน้ำเชี่ยวกรากและยังมีเศษชิ้นส่วนจากซากเรือไททานิกบริเวณท้องมหาสมุทรอีกด้วย
 


ทั้งนี้ การเที่ยวชมซากเรือไททานิกด้วยเรือดำน้ำไททันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเดินทาง 8 วันที่จัดขึ้นโดยบริษัททัวร์โอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชัน (OceanGate Expeditions) โดยทริปนี้เริ่มต้นที่เมืองเซนต์จอห์นในเกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา นักท่องเที่ยวมีกำหนดเดินทางในระยะทาง 400 ไมล์ทะเลไปยังจุดจมของซากเรือไททานิค ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งเคปค้อดในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐไปประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร)

TITAN


เรือดำน้ำไททันเริ่มต้นเดินทางไปยังซากเรือไททานิคตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนสูญเสียการติดต่อกับเรือโพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ในเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาทีให้หลัง (การดำดิ่งจากผิวน้ำสู่จุดที่เรือไททานิคจมอยู่ปกติใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง) โดยเรือโพลาร์ ปรินซ์ ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือตัดน้ำแข็งเป็นเรือแม่ที่ขนส่งไททันไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทาง


เมื่อได้รับแจ้งเหตุเรือไททันสูญหาย เจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งก็เริ่มต้นออกปฏิบัติการค้นหาในวันเดียวกันนั้น (18 มิ.ย.) แต่จนถึงขณะนี้ (21 มิ.ย.2566) ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไททัน เพราะเหตุใดจึงสูญเสียการติดต่อ และไททันอยู่ใกล้กับซากเรือไททานิคเพียงใดในช่วงที่สูญหายไป

 

ความยากลำบากที่ต้องแข่งกับเวลา "ไม่มีแผนสำรอง ไม่มีกระสวยฉุกเฉิน...หากเรือขึ้นสู่ผิวน้ำไม่ได้ ก็คือจบชีวิต" ซึ่งเดวิด โพกิว ผู้สื่อข่าวสถานีข่าวซีบีเอส ที่เคยโดยสารเรือดำน้ำลำนี้เมื่อปีที่แล้ว (2565) ระบุว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้โดยสารเรือดำน้ำ จะรอดออกมาเองได้ หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

ตอนนี้ กองทัพเรือสหรัฐและแคนาดา กำลังใช้เครื่องบิน เรือดำน้ำ และทุ่นโซนาร์ เพื่อทำการค้นหาแบบกวาดลานใจกลางมหาสมุทรแอตแลนติก และล่าสุดได้ใช้ยานบังคับทางไกล ลงไปค้นหาใต้ทะเลลึก ในจุดที่คาดว่าเรือดำน้ำสูญหายแล้ว

 

รายงานข่าวระบุว่า เรือดำน้ำไททันนั้นไม่เหมือนกับเรือดำน้ำทั่วไปที่สามารถออกเดินทางและกลับเข้าท่าได้ด้วยตัวเอง แต่ไททันเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กประเภท submersible (ขนาดประมาณรถตู้ 1 คัน บรรทุกผู้โดยสารได้คราวละ 5 คน) ต้องอาศัยเรือแม่เป็นผู้ปล่อยลงน้ำและนำขึ้นจากน้ำ โดยเรือดำน้ำไททันถูกปล่อยออกจากเรือโพลาร์ ปรินซ์ ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็งดัดแปลงที่โอเชียนเกตฯว่าจ้างมา

TITAN

เอกสารที่โอเชียนเกตฯ ยื่นต่อศาลแขวงในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องเรือไททานิกระบุว่า เรือดำน้ำไททันนั้นสามารถดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร (13,120 ฟุต) โดยมีการเผื่อส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเอาไว้แล้ว ขณะที่วัสดุที่ใช้ผลิตตัวเรือเป็นไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความทนทานต่อแรงกดดันมหาศาลใต้ท้องทะเลลึก

 

ในเอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนพ.ค. 2564 โอเชียนเกตฯระบุว่า เรือดำน้ำไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เหนือชั้น โดยผ่านการทดสอบดำน้ำกว่า 50 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการทดสอบดำน้ำลึกเทียบเท่าจุดที่ซากเรือไททานิคจมอยู่ บริเวณนอกชายฝั่งบาฮามาส

 

อย่างไรก็ตาม อดีตพนักงาน 2 รายของโอเชียนเกตฯ เคยออกมาเตือนเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันสมัยที่ยังทำงานให้กับบริษัทดังกล่าวเมื่อหลายปีก่อน โดยพนักงานรายหนึ่งถูกบริษัทไล่ออกและฟ้องร้องดำเนินคดีโทษฐานเปิดเผยข้อมูลลับของบริษัท

TITAN

ภาพจาก OceanGate Expeditions และ Hamish Harding