เจ้าหน้าที่ยังคงเเร่งค้นหาอย่างต่อเนื่อง จากกรณีเรือดำน้ำไททัน (TITAN) ที่พาลูกเรือดำดิ่งใต้ทะเลลึกในมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อชมซากของเรือไททานิค (Titanic) หรือ เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) เรือสำราญลำใหญ่ที่จมหายไปตั้งแต่ ค.ศ.1912 หลังจากจมภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่อยู่ลึกลงไป 3,800 เมตร ก่อนจะหายไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งเบื้องต้นมีรายงานว่า อากาศที่อยู่ในเรือนั้นมีให้ประมาณ 70 - 96 ชั่วโมง สำหรับลูกเรือ 5 ชีวิต ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกโลก
ยังพอมีหวังของการค้นหาผู้รอดชีวิตในครั้งนี้อยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงดังทุกๆ 30 นาที แต่ก็ยังระบุตำแหน่งของเรือดำน้ำไททันไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ อากาศในเรือเริ่มจะค่อยๆ หมดไปแล้ว ซึ่งจากการคาดการณ์เบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญพบว่า อาหารน่าจะหมดแล้ว
วันนี้ ไทยนิวส์ จะพาไปย้อนตำนาน ไททานิคล่ม ซึ่งหาเหตุผลว่าทำไม เหล่า มหาเศรษฐีโลก ถึงยอมจ่ายถึง 8.7 ล้านเพื่อจะได้ดำดิ่งไปชมซากของมัน ที่แม้ว่าจะค้นหาเจอมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกู้ซากของมันขึ้นมาได้เลย ทำให้เรือสำราญที่ขึ้นชื่อได้ว่าใหญ่โตและหรูหราที่สุดของยุค ยังนอนนิ่งใต้มหาสมุทรแอตแลนติก
โดยย้อนกลับ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1908 แบบร่างของเรือไททานิค (Titanic) หรือ เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) ได้รับการอนุมัติให้สร้าง ทีมผู้ผลิตใช้เวลาต่อเรือขนาดมหึมาลำนี้ร่วม 4 ปี กรทั่ง ไททานิค พร้อมแล่นเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 1912 และได้ทดลองลงแล่นในทะเลจริง เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 1912
ไททานิคจัดว่าเป็นเรือโดยสารที่หรูหราและใหญ่โตที่สุดของยุคนั้น ซึ่งเรือสัญชาติอังกฤษลำนี้ มีความยาว 269.06 เมตร ส่วนที่กว้างที่สุดของเรือมีขนาด 28.19 เมตร วัดความสูงจากฐานโครงเรือถึงยอดสะพานเรือได้ 32 เมตร น้ำหนักเรือ 46,329 ตัน แบ่งออกเป็น 9 ชั้น ใช้เป็นที่พักของผู้โดยสารชั้นต่างๆ และลูกเรือ ห้องอาหาร ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และชั้นดาดฟ้าสำหรับชมวิว ที่มีเพียงผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสองเท่านั้น ที่สามารถใช้บริการ และ มีลิฟต์ทั้งหมด 4 ตัว
นอกจากนี้ยังมีชั้นที่เป็นห้องเครื่องยนต์ โดย ไททานิค เป็นเรือลำแรกๆ ที่ใช้โลหะในการต่อเรือ ใช้เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อน 3 ตัว สามารถแล่นได้เร็วสูงสุด 43 กม./ชม.
โดย บริษัท ไวท์สตาร์ ไลน์ ซึ่งเป็นเจ้าของไททานิค โฆษณาเรือลำนี้ว่าเป็น "เรือที่ไม่มีวันจม" และอาจเป็นด้วยความเชื่อมั่นมากเกินไปเช่นนั้น จึงมีการติดตั้งเรือชูชีพไว้เพียง 20 ลำ ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้เพียง 1,178 คน ขณะที่เรือทั้งลำ จุผู้โดยสารและลูกเรือได้ประมาณ 3,500 คน และต่อมาได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ในคืนที่ไททานิคจมสู่ก้นทะเล
วันที่ 10 เม.ย. 1912 เรือไททานิคออกจากท่าเรือที่เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มีปลายทางอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการเดินทางเที่ยวแรก และไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเที่ยวสุดท้ายของมัน ในเมื่อท้องทะเลขณะนั้นดูเงียบสงบ ไร้คลื่นลมรุนแรง
วันที่ 14 เม.ย. 1912 ช่วงเช้าและกลางวัน การเดินเรือดูเป็นปกติดี แต่ก็ยังมีรายงานและการแจ้งเตือนส่งมายังเรือว่า พบภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ถึง 7 ครั้ง ตลอดทั้งวัน
เวลา 17:50 น. กัปตันเรือเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ (Edward John Smith) ตัดสินใจเบี่ยงเส้นทางเรือไปทางทิศใต้ หลังจากได้รับคำเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็ง แต่ไม่ได้ลดความเร็วลง เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญเรื่องการเดินเรือให้ถึงที่หมายตรงตามกำหนดเวลา
กระทั่ง 21:40 น. เรือเมซาบา ส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังเรือไททานิค ว่ามีภูเขาน้ำแข็งและก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ลอยตัวอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก แต่ข่าวสารชิ้นนี้ไม่ได้ถูกส่งออกจากห้องวิทยุไปยังสะพานเดินเรือหรือห้องบังคับการ เพราะพนักงานรับส่งข้อความทางวิทยุ มัวแต่ยุ่งอยู่กับการส่งข้อความให้ผู้โดยสาร
จนเวลา 22:00 น. เปลี่ยนกะพนักงานและผู้บังคับบัญชาสะพานเดินเรือ รวมถึงพนักงานเฝ้าระวังเป็นชุดที่ 2 ทะเลยามกลางคืนที่เงียบสงบทำให้การสังเกตการณ์เป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีร่องรอยของคลื่นที่วิ่งกระทบก้อนน้ำแข็งในทะเล
ต่อมา 22:55 น. เรือเอสเอส แคลิฟอร์เนียน ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียง ส่งข้อความเตือนมายังเรือไททานิค โดยระบุว่า พวกเขาต้องหยุดการเดินเรือ เพราะมีก้อนน้ำแข็งห้อมล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พนักงานวิทยุของเรือไททานิค กลับตะคอกกลับไปด้วยความไม่พอใจว่า เขากำลังยุ่งอยู่ และตัดการสื่อสารทิ้ง
จนเมื่อเวลา 23:00 น. ผู้โดยสารส่วนใหญ่ของเรือกลับเข้าห้องเพื่อพักผ่อน จากนั้น เวลา 23:35 น. พนักงานเฝ้าระวัง เฟรเดอริก ฟลีต มองเห็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ในเส้นทางเดินเรือของไททานิค และตีระฆังให้สัญญาณเตือนสิ่งกีดขวางเบื้องหน้า 3 ครั้ง เขารีบติดต่อไปยังทีมบนสะพานเรือไททานิค และสั่งให้เดินเรือเบี่ยงไปทางซ้าย จากนั้นให้เดินเครื่องถอยหลัง
เวลา 23:40 น. คือช่วงเวลาเริ่มต้นแห่งความหายนะ ต้นเรือซึ่งพยายามหักเลี้ยวเรือเพื่อหลบภูเขาน้ำแข็งอย่างกระชั้นชิด แต่เนื่องจากกลไกการเลี้ยวของเรือในยุคนั้นมีความซับซ้อน จึงเกิดความล่าช้าในการเปลี่ยนทิศทาง เรือไททานิกคสามารถหลบเลี่ยงการปะทะภูเขาน้ำแข็งโดยตรงได้ แต่ก็เกิดการกระแทกระหว่างที่เรือแฉลบผ่านภูเขาน้ำแข็งไป ทำให้กราบเรือด้านขวาเสียหาย เกิดช่องเปิดขนาดใหญ่ และน้ำเริ่มเข้าเรือจนท่วม ผู้โดยสารบางส่วนรับรู้แรงสั่นสะเทือนและได้ยินเสียงกระแทกดังมาก แต่ยังไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
เวลา 23:45 น. น้ำทะเลไหลเข้าท่วมตัวเรือทันทีที่เกิดช่องแตกในปริมาณ และความเร็วราว 7 ตันต่อวินาที กัปตันสมิธรับรู้แรงสั่นสะเทือนจากการชนในห้องเคบิน และรีบมาที่สะพานเรือ ก่อนจะพบว่าเรือเอียงไปทางกราบขวา และหัวเรือเริ่มจมหลังจากชนภูเขาน้ำแข็งราว 5 นาที ซึ่งภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงหลังจากนั้น น้ำทะเลเกือบ 14,000 ตัน ไหลทะลักเข้าสู่ตัวเรือ ซึ่งเกินกำลังรองรับของอับเฉาเรือและปั๊มน้ำก็ไม่สามารถสูบออกได้ทัน หนึ่งในวิศวกรผู้สร้างเรือไททานิคที่เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย ประเมินว่า เรือสามารถลอยตัวอยู่ไม่เกิน 2 ชม.
วันที่ 15 เม.ย. 1912 เวลา 01:30 น. อัตราการจมของหัวเรือไททานิคเพิ่มขึ้น และเริ่มจมลงอย่างรวดเร็ว หลังจากตีสองผ่านไป กระทั่งจมหายไปจากผิวน้ำทั้งลำเมื่อเวลา 02.20 น. ใช้เวลาเพียง 2 ชม. ครึ่ง นับจากเวลาที่ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ชีวิตของผู้โดยสารและลูกเรือมากกว่า 1,500 คน สิ้นสุดลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติกที่หนาวเย็น ใกล้กับเกาะนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา กลายเป็นหนึ่งในตำนานแห่งโศกนาฏกรรมทางทะเลช็อกโลกที่คนยังกล่าวขานกันมาถึงจนถึงทุกวันนี้
แหล่งข้อมูลจาก britannica.com, historyonthenet.com, th.wikipedia.org
ภาพจาก OceanGate Expeditions และ Hamish Harding