"ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเสี่ยงเบาหวาน" ทำเอาหลายคนร้องแบบอดสงสัยหนักๆ ไม่ได้ เพราะมีรายงานจากการศึกษาใหม่พบหลักฐานโดยตรงที่เชื่อมโยงส่วนประกอบทางเคมีหลักของขวดพลาสติก กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคเบาหวานประเภท 2
โดยการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Diabetes พบว่าสารเคมี Bisphenol A (BPA) ที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงขวดน้ำพลาสติก สามารถลดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้
ผลการวิจัยที่จะนำเสนอในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ของ American Diabetes Association ปี 2024 เรียกร้องให้สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) พิจารณาขีดจำกัดความปลอดภัยสำหรับการสัมผัสกับ BPA ในขวดและภาชนะบรรจุอาหารอีกครั้ง เนื่องจากอาจรบกวนฮอร์โมนในมนุษย์ได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย California Polytechnic State กล่าวในแถลงการณ์ว่า "ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นหลักฐานชุดแรกที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ BPA อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2"
ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้สุ่มให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 40 คน ได้รับยาหลอกหรือ BPA ประมาณ 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในแต่ละวัน ซึ่งปริมาณ BPA ดังกล่าวถือเป็นปริมาณที่ EPA จัดให้อยู่ในประเภทปลอดภัยในปัจจุบัน พบว่าผู้ที่ได้รับ BPA มีการตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหลังจาก 4 วัน
"ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบางทีควรพิจารณาขนาดยาที่ปลอดภัยอีกครั้ง และผู้ให้บริการด้านการแพทย์สามารถแนะนำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แก่ผู้ป่วยได้" นักวิจัยเตือน
อย่างไรก็ตาม ขวดพลาสติกแพร่หลายทั่วโลกเนื่องจากความสะดวก แต่การวิจัยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของส่วนประกอบทางเคมี ดังนั้น การลดการสัมผัสกับ BPA โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การใช้ขวดสแตนเลสหรือแก้ว และกระป๋องที่ปราศจาก BPA สามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้
ข้อมูลจาก independent และ healthday