โดยปกติแล้วหลายๆ คนจะจำภาพ โลมา ที่เป็นสัตว์ที่มีนิสัยเป็นมิตร น่ารัก ใจดี และชอบช่วยเหลือมนุษย์ แต่จริงๆ แล้ว โลมา อาจมีนิสัยดุร้ายกว่านั้น จนล่าสุด ทางการท้องถิ่นเมืองมิฮามะ จังหวัดฟูกูอิ ใน ญี่ปุ่น ต้องออกประกาศเตือนประชาชนห้ามเข้าใกล้โลมาเพราะอาจจะถูกกัดด้วยฟันแหลมคมและทำให้เลือดออกหรือยิ่งไปกว่านั้นอาจถูกลากลงทะเลซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เพราะสถิติโลมาทำร้ายคนในจังหวัดฟูกุอิช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางทะเลระบุถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะโลมาปากขวดตัวหนึ่งที่อยู่โดดเดี่ยวและมีความเก็บกดทางเพศ
ด้านเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่งกล่าวว่าเฉพาะฤดูร้อนปีนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากโลมาในจังหวัดฟูกุอิอย่างน้อย 18 คน รวมทั้งนักเรียนชั้นประถมศึกษาคนหนึ่งที่ต้องเย็บนิ้วอย่างน้อย 20 เข็ม ส่วนปีที่แล้วมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 ราย รวมถึงนักว่ายน้ำที่ถูกโลมาโจมตีจนกระดูกซี่โครงหักและมีคนได้รับบาดเจ็บอีกรายเมื่อปี 2565
ขณะเดียวกัน นายทาดามิชิ โมริซากะ ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิเอะของญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าโลมาที่ทำร้ายคนอาจเป็นตัวเดียวกันเพราะครีบหลังเหมือนกับลายนิ้วมือของคน โลมาแต่ละตัวก็มีรอยบาก สัน และสีที่ครีบหลังแตกต่างกันออกไป
สำหรับครีบหลังของโลมาที่กัดนิ้วคนในเมืองในซึรุกะ เมืองท่าที่อยู่ติดกับมิฮามะมีลักษณะตรงกับครีบหลังของโลมาตัวหนึ่ง ความยาว 2.5 เมตรซึ่งพบเห็นนอกชายฝั่งเมืองฟูกุอิเมื่อปีที่แล้วจึงสันนิษฐานว่าเป็นตัวเดียวกัน นอกจากนี้รอยแผลที่ครีบหางก็คล้ายกับรอยแผลของโลมาที่พบนอกชายฝั่งเมื่อปีที่แล้ว แต่โลมาตัวนี้ผิดแผกจากตัวอื่นๆ เพราะปกติแล้วโลมาอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ตัวนี้อยู่ลำพังมานาน
โลมาปากขวดเพศผู้มีวิธีการสื่อสารด้วยการเล่นกัดกัน ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายคน แต่เป็นการสื่อสารของโลมากับคน ส่วนคนอื่นๆ ตั้งทฤษฎีต่างกันออกไปเพื่อหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ทำร้ายคน รวมทั้ง อาจเกิดจากความต้องการทางเพศ
ทาง นายไซมอน อัลเลน นักชีววิทยาและผู้วิจัยหลักของโครงการวิจัยโลมาอ่าวฉลามกล่าวว่าโลมาปากขวดเป็นสัตว์สังคมอย่างยิ่งซึ่งแสดงออกทางกายภาพ โลมาก็เหมือนกับมนุษย์และสัตว์สังคมอื่นๆ
เมื่อระดับฮอร์โมนแปรปรวน เก็บกดทางเพศหรือต้องการเป็นจ่าฝูงก็อาจจะเป็นแรงขับทำให้ทำร้ายคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยและเนื่องจากโลมามีพลังมาก จึงอาจทำคนได้รับบาดเจ็บสาหัสได้ โลมาตัวนี้อาจถูกขับออกจากฝูงและกำลังแสวงหาเพื่อนที่ไม่ใช่โลมาก็เป็นได้
ส่วน นายแมทเธียส ฮอฟฟ์มันน์-คุห์นต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่าการที่โลมาทำร้ายคนอาจทำเพื่อป้องกันตัวเองได้เช่นกัน จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ของตนพบว่าโลมามักจะแสดงพฤติกรรมป้องกันตัวเองมากขึ้นเมื่อคนเข้าใกล้เกินไปโดยไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร
และมีรายงานว่าคนพยายามขี่หลังหรือเอานิ้วอุดรูเปิดช่องหายใจของโลมา จึงไม่น่าแปลกใจที่โลมาแสดงความก้าวร้าวหรืออย่างน้อยก็เพื่อป้องกันตัวเองจากคนที่อยู่ในน้ำ
แต่อีกข้อสันนิษฐานอาจเป็นไปได้ว่าก่อนหน้านี้โลมาเคยเผชิญหน้ากับคนไม่ดีและได้รับประสบการณ์เลวร้าย จึงเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมตอบโต้ด้วยความก้าวร้าวเมื่อเผชิญหน้ากับคนอื่นๆ เพราะโลมามีความจำดีมาก คล้ายกับช้างที่จำคนที่เคยทำร้ายได้
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าโลมาเคยทำร้ายคนถึงตายมาแล้ว เมื่อปี 2537 เป็นโลมาที่ถูกตั้งเรียกว่า "ทิโอ" ก่อเหตุทำร้ายนักว่ายน้ำชาย 2 คนในบราซิลเพราะพยายามขี่หลังมัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย และเชื่อว่าก่อนหน้านั้นทิโอเคยทำร้ายคนได้รับบาดเจ็บมาแล้วอย่างน้อย 22 คน