"ระเบียบของทางราชการหรืองบประมาณของทางราชการ ของประเทศไทย ได้ขยายตัวพร้อมที่จะดูแลรักกับชประชาชนของประเทศหรือไม่ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
นี่เป็นการตั้งคำถามดัง ๆ ไปถึงรัฐบาล ของพลตรีหญิงพูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ หนึ่งในข้าราชการเกษียณอายุ ที่ทวงถามถึงนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีมากในสังคมไทย ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่หลักการดูแลคนกลุ่มนี้ดูเหมือนยังไม่ถูกพัฒนาและมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะข้าราชการเกษียณที่ทำงานรับใช้ประเทศมาเกือบทั้งชีวิต
พลตรีหญิงพูลศรี มองว่า การเข้ามาเป็นข้าราชการเสมือนเป็นพันธะสัญญากันระหว่างรัฐบาลกับข้าราชการ ที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ไปจนถึงบั้นปลายชีวิตด้วยเงินบำนาญและการมีคุณภาพชีวิต ด้วยสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการทางการแพทย์ เพราะไม่เพียงแค่ครั้งยังรับราชการ แต่เมื่อเกษียณแล้ว ข้าราชการเกษียณก็ยังทำคุณงามความดีเพื่อสังคม
"...ข้าราชการทุกคนทำคุณให้ประเทศ ไม่เพียงแค่ครั้งยังรับราชการอยู่เท่านั้น แต่เมื่อเกษียณแล้วข้าราชการเกษียณก็ยังทำคุณงามความดีเพื่อสังคมและประเทศชาติได้ เมื่อมีโอกาส ข้าราชการเกษียณ เรามีโครงการคลังสมองหรือแม้กระทั่งเป็นจิตอาสาทำงานให้ประเทศชาติโดยไม่มีค่าตอบแทนใดใด การเป็นที่ปรึกษาบ้างหรือการเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้เด็ก โดย อาศัยข้าราชการวัยเกษียณซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้านในการแนะนำถ่ายทอดความรู้ต่างๆ รวมทั้งกิจการสาธารณะ ที่เราอาสารับใช้สังคมและประชาชน โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ตามความถนัดในแต่ละสาขาที่ตัวเองได้รับราชการมา ไม่ว่าจะเป็นงานกิจการสาธารณะสุข" พลตรีหญิงพูลศรีระบุ
ข้าราชการทุกคนมีความภูมิใจในการรับใช้ประชาชนและประเทศชาติ ยอมรับผลตอบแทนที่มีฐานเงินเดือนที่ต่ำเมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจและเอกชน แม้เกษียณอายุยังต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ทุกวันนี้คนกลุ่มนี้กำลังถูกมองข้าม เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการได้รับยานวัตกรรมใหม่ ๆ ครั้นจะไปเรียกร้องหรือทวงถาม ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดกับกฎหมายวินัยข้าราชการ
นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ จึงอยากร้องเรียนไปยังรัฐบาลให้ข้าราชการเกษียณสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษา กำหนดกรอบในการกำกับดูแลการจัดทำบัญชียาและอุปกรณ์การแพทย์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษามากกว่าการพิจารณาจากงบประมาณที่ถูกจำกัดในการรักษา และจัดสรรงบประมาณของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะการรักษาสุขภาพของประชาชน ให้อยู่ในลำดับต้น ๆ เพราะประชาชนของประเทศใดมีสุขภาพที่ดี ย่อมสามารถขับเคลื่อนประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นได้ และการออกมาเรียกร้องสิทธิการรักษาพยาบาลของข้าราชการในครั้งนี้ จึงเป็นอีกเสียงหนึ่งของข้าราชการไทย ที่รัฐควรนำไปพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วยของประชาชนที่มีรายได้ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงอายุ