2 มี.ค.66 น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เคลื่อนไหวผ่านเพจ เดียร์ วทันยา บุนนาค เกี่ยวกับประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ถามจริยธรรมกระทรวงคมนาคมถึงหัวหน้ารัฐบาล หากดันสายสีส้มเข้า ครม.
เมื่อวานนี้ (1 มีนาคม) ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษา ยกฟ้อง คดีแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินเอกสารคัดเลือกเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ชนวนทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ศาลฯ วิเคราะห์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการ ม.36 และ รฟม. มีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมาย สะท้อนว่าคำชี้ขาดครั้งนี้ อาจเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับการประมูลโครงการภาครัฐอื่นๆ สามารถใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลได้ตามใจชอบ แม้จะอยู่ในช่วงระหว่างเกมการแข่งขัน สร้างความเสียเปรียบได้เปรียบ โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ที่ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ และอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ
เฉกเช่น ส่วนต่าง 68,612.53 ล้านบาท ในโครงการประมูลสายสีส้ม ระหว่างการประมูลรอบแรก ที่บีทีเอสซี ขอรัฐสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาสุทธิ รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก ที่ 9,675.42 ล้านบาท(ถูกล้มประมูลออกไป) ในขณะที่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เอกชนที่ชนะการประมูล (ประมูลรอบที่สอง) เสนอขอรัฐสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาสุทธิจำนวน 78,287.95 ล้านบาท
ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารัฐอาจเสียงบประมาณมหาศาล จึงทำให้สังคม นักวิชาการ นักการเมือง ต่าง จี้ให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานประมูลโครงการสายสีส้ม และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้ารัฐบาล ตรวจสอบให้สังคมสิ้นสงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล ทั้งเรื่อง เงินส่วนต่าง และเงินทอน
และล่าสุดอดีตนักการเมืองอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ปูดขึ้น รวมถึงต้องชะลอการนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติผลการประมูลและลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ไม่เช่นนั้นแล้วนอกจากรัฐจะเสียงบประมาณจำนวนมากแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะมีส่วนรับภาระกับความไม่โปร่งใส จากกลุ่มคนเพียงไม่กี่รายในครั้งนี้ด้วย
แต่มีการคาดการณ์ว่ากระทรวงคมนาคม จะผลักดันโครงการสายสีส้มเข้า ครม. ก่อนยุบสภาหรือให้ทันในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้อาจจะได้ยินนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โต้กลับว่าต้องยึดคำสั่งศาลปกครองถึงที่สุด
ล่าสุดเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ฝั่งรัฐเป็นฝ่ายชนะคดีนัดแรก(รื้อเกณฑ์ประมูลระหว่างแข่งขัน)ได้ทันก่อนยุบสภา หรือก่อนหมดวาระการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้
ดังนั้นจะขอตั้งคำถามถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า เมื่อเห็นเส้นทางการประมูลสายสีส้มไม่ชอบมาพากลในครั้งนี้ สมควร ผลักดันให้ไปต่อหรือไม่
เช่นเดียวกับคำถามเดียวกัน หากผู้นำรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นความผิดปกติ ควรผลักดันเห็นชอบโครงการบนความเจ็บปวดของประชาชนต่อไปหรือไม่ ที่สำคัญรัฐบาลนี้รู้อยู่แล้วว่าไม่ถึง 70 วันจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น
ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เรื่องที่เป็นนโยบายหลัก หรือเรื่องที่สังคมยังตั้งข้อกังขาหรือไม่สิ้นสุดความสงสัย จากหลายองค์กรทั้งภาคีต่อต้านคอรัปชัน สื่อ ประชาชน โดยสปิริต จรรยาบรรณ จริยธรรม หรือหลักการบริหารที่ดี ที่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมเป็นที่ตั้ง ควรหรือไม่ที่นายนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้จะดันทุรังพิจารณารถไฟฟ้าสายสีส้ม