ผล"เนชั่น โพล"ครั้งที่1 เลือกตั้ง66 เพื่อไทยมาแรง "แพทองธาร"คนอยากเลือกเป็นนายก

18 เมษายน 2566

เปิดผล "เนชั่นโพล ครั้งที่ 1 ผลสำรวจเลือกตั้ง 66 ผลสำรวจการเลือกตั้งผลรวมระดับประเทศ โดยประเด็น อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด "แพทองธาร" นำโด่ง

  18 เม.ย.66  สื่อเครือเนชั่น เผยผลสำรวจ เนชั่นโพลเลือกตั้ง66 ภายใต้โครงการ "Road to The Future เลือกตั้ง66 อนาคตประเทศไทย" สำหรับการจัดทำ เนชั่นโพล ได้ให้อาสาสมัครลงพื้นที่ ทำการสำรวจประชาชนในพื้นที่กทม.และพื้นที่อื่นอีก8ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 7-12เม.ย.โดย เปิดผลเนชั่นโพล ครั้งที่1 ได้ผลสรุปว่า 


1. “พรรคเพื่อไทย” นำอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 “พรรคก้าวไกล” (ภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งระบบแบ่งเขต และปาร์ตี้ลิสต์) สาเหตุที่เพื่อไทยนำโด่งเกือบทุกพื้นที่ เนื่องจากช่วงเวลาที่ทีมลงพื้นที่สำรวจโพลระหว่าง 7-12 เม.ย. ตรงกับช่วงการประกาศนโยบายแจก 1 หมื่นต่อคน (55 ล้านคน ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา

ซึ่งนโยบายนี้ติดกระแสแรงทางสื่อมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ สอดคล้องกับเหตุผลของผู้ตอบแบบสำรวจที่เลือกพรรคการเมืองโดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์และนโยบายพรรค (เหตุผลข้อนี้มาเป็นอันดับแรก) จึงเหมาะเจาะทางช่วงเวลา ทำให้คะแนนนิยม “พรรคเพื่อไทย” ดีดพุ่งสูงโดยเฉพาะยิ่งแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ

ผล\"เนชั่น โพล\"ครั้งที่1 เลือกตั้ง66 เพื่อไทยมาแรง \"แพทองธาร\"คนอยากเลือกเป็นนายก

2 .แคนดิเดตนายกฯ ภาพรวมทั้งประเทศ “นายเศรษฐา ทวีสิน” ก้าวขึ้นมาติด 4 อันดับแรก (รายชื่อบุคคล) ผลจากการเปิดตัว “นายเศรษฐา” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการเมื่อ 5 เมษายน และนโยบายแจก 1 หมื่นต่อคน การเปิดตัว “นายเศรษฐา” ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ทีมงานลงพื้นที่สำรวจโพลระหว่าง 7-12 เมษายน ทำให้กระแส “นายเศรษฐา” พุ่งขึ้นมา

ผล\"เนชั่น โพล\"ครั้งที่1 เลือกตั้ง66 เพื่อไทยมาแรง \"แพทองธาร\"คนอยากเลือกเป็นนายก

3. แคนดิเดตนายกฯ ภาพรวมทั้งประเทศ “พล.อ.ประยุทธ์”  ขึ้นมาติด Top 3 เป็นรอง “น.ส.แพทองธาร” และ “นายพิธา” ส่วนในภูมิภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด คะแนนเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” มาเป็นอันดับ 1 “พล.อ.ประยุทธ์” ยังเป็นที่นิยมในภาคใต้สำหรับฝั่งอนุรักษ์นิยม


4. สัดส่วน % ของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขตมาเป็นอันดับ 1 ในภาคกลางและตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด และกลุ่มสามจังหวัดชายแดนใต้


5. เพื่อไทยรับประกันแลนด์สไลด์ได้เพียง 2 ภูมิภาค ได้แก่ “ภาคเหนือบน” และ”ภาคอีสานบน” เท่านั้น

 

6. แคนดิเดตนายกฯ เฉพาะการสำรวจใน กทม. “นายจุรินทร์” ตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ห่าง แต่ในการสำรวจภาพรวมระดับประเทศ “พล.อ.ประยุทธ์” นำ “นายจุรินทร์” พอสมควร เนื่องจากคะแนนที่เลือก “พล.อ.ประยุทธ์” ในภาคใต้ 11 จังหวัดตอนบนสูงมาก (มาเป็นอันดับ 1) จึงทำให้คะแนนภาพรวมระดับประเทศถีบตัวสูงขึ้น

 

7. คะแนนของ “ประชาธิปัตย์”  ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบ่งเขตในกรุงเทพฯ เป็นรองแค่ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมเดียวกัน อยู่เหนือ”รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมาจากแคมเปญรณรงค์ของ “ประชาธิปัตย์” ใน กทม. ที่ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง (ผ่านสื่อ) ในช่วงระหว่าง 4-12 เมษายน ส่งผลให้เหนือกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” (ช่วงเดียวกับที่ทีมลงพื้นที่สำรวจโพล ระหว่าง 7-12 เมษายน) ประชาชนน่าจะรับรู้กิจกรรมรณรงค์ของ “พรรคประชาธิปัตย์” ช่วงดังกล่าวพอดี จึงส่งผลต่อการรับรู้นั่นเอง

 

8. "คุณหญิงสุดารัตน์” กับ “พล.อ.ประวิตร”  มีคะแนนความนิยมตัวบุคคลตามหลัง “นายจุรินทร์” ในภาพรวมระดับประเทศ

9.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ทั้งระดับประเทศและ กทม. ยังมีอีกราวๆ ร้อยละ 32 + (เกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด)

– ข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ถ้าเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม คือ ยังคิดไม่ตกว่าจะเลือก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” หรือ “พรรคประชาธิปัตย์” แต่ไม่ข้ามฝั่งไปเลือก “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล”

– ข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ถ้าเป็นฝั่งเสรีนิยม ยังคิดไม่ตกว่าจะเลือก “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล” แต่ไม่ข้ามฝั่งเช่นกัน

10. กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ยังมีมากพอสมควร ราวๆ ร้อยละ 32 + (เกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด) จึงเป็นโอกาสของพรรคการเมืองในเวลาที่เหลือราวๆ 29-30 วัน ในการออกแคมเปญเพื่อดึงคะแนนจากกลุ่มนี้

11.แนวโน้มสถิติบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมตัดคะแนนกันเองมากกว่าฝั่งเสรีนิยม

ยกตัวอย่าง ภาคใต้ คะแนนจากสงขลา นครศรีธรรมราช ฯลฯ “รวมไทยสร้างชาติ” กับ “ประชาธิปัตย์” คะแนนทิ้งกันไม่ขาด แถมยังมี “ภูมิใจไทย”มาแชร์แต้ม ทำให้ “เพื่อไทย” กลับแรงขึ้นมา ทั้งๆ ที่คะแนนนิยมดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมมีตัวหารมาก ทำให้คะแนนเหมือนลดลง สะท้อนว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียเปรียบในพื้นที่เป้าหมายของตัวเอง

 

12. ฐานคะแนนฝั่งเสรีนิยม หลายคนไม่กล้าเลือก “พรรคก้าวไกล” เพราะกลัว “พรรคเพื่อไทย” ไม่แลนด์สไลด์ แล้วแพ้ 2 ป.

 

13. ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจทั้งในแบบปาร์ตี้ลิสต์และแบ่งเขต มาเป็นอันดับ 1 เหนือการเลือก ส.ส. ทั้งสองระบบ

14. ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ คนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือก “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล” จะตอบเสียงดังฟังชัด แต่คนที่เลือกพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม จะตอบแบบไม่เต็มเสียง เหมือนไม่กล้าแสดงตัวมาก

 

15. คะแนนจากการสำรวจโพลแบบปาร์ตี้ลิสต์รอบที่ 1 นี้ สามารถนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคได้เลย แต่อย่าลืมว่ายังมีคนไม่ตัดสินใจอีกราว ๆ 32 %

16. ส่วน % คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตใน 8 ภูมิภาค (สำรวจรอบที่หนึ่งนี้) สามารถพิจารณาถึงทิศทางความแรงของพรรคและตัวบุคคลในภูมิภาคนั้นๆ ได้รายภูมิภาค แต่ยังแปรเป็นจำนวน ส.ส.เขตในแต่ละภูมิภาคอย่างเจาะจงไม่ได้ตามหลักการทางสถิติ เนื่องจากการสำรวจไม่ได้สำรวจรายเขตเลือกตั้ง แต่เป็นการสำรวจความนิยมรายภูมิภาค (โซน) นั่นเอง (ส่วนการสำรวจโพลรอบสองแบบ 400 เขตเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นปลายเมษายนนั้น จะทราบถึงหน้าตา ส.ส.เฉพาะเขตเลือกตั้งได้)

ผล\"เนชั่น โพล\"ครั้งที่1 เลือกตั้ง66 เพื่อไทยมาแรง \"แพทองธาร\"คนอยากเลือกเป็นนายก


  ด้านประเด็นที่น่าสนใจ ผลสำรวจเนชั่นโพล"อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด" มีอันดับดังนี้


1.แพทองธาร ชินวัตร 33.81%
2.ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 22.58%
3.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 16.87%
4.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8.13%
5.เศรษฐาทวีสิน 7.45%
6.อนุทิน ชาญวีรกูล 2.70%
7.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 2.59%
8.สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1.67%
9.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 1.42%
10.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1.22%
11.กรณ์ จาติกวณิช 1.09%
12.ชัยเกษม นิติสิริ 0.14%
13.วราวุธ ศิลปอาชา/ศิธา ทิวารี 0.09%
14. วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา 0.08%

ผล\"เนชั่น โพล\"ครั้งที่1 เลือกตั้ง66 เพื่อไทยมาแรง \"แพทองธาร\"คนอยากเลือกเป็นนายก